แนะวิธีลดเสี่ยง กระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ

แนะวิธีลดเสี่ยง กระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ

ปัจจุบันทั่วโลกมีผู้หญิงที่มีปัญหาโรค กระดูกพรุน 200 ล้านคน

ส่วนในประเทศไทยนั้น 1 ใน 5 ของผู้หญิงอายุ 40 – 80 ปีเป็นผู้ป่วยโรคกระดูกพรุน น่าตกใจว่าผู้ป่วยโรคดังกล่าวส่วนมากไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้เลย จนกว่าจะเกิดอุบัติเหตุหกล้มและเกิดปัญหากระดูกหัก โดยเฉพาะกระดูกสะโพก นำมาสู่ปัญหากระดูกหักซ้ำ เกิดภาวะพิการ กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียงหรือถึงขั้นเสียชีวิตได้

ชีวจิต ได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์นายแพทย์สัตยา โรจนเสถียร ว่าที่ประธานอนุสาขาเมตาบอลิกและผู้สูงอายุ และหัวหน้าภาควิชาออร์โธปิดิกส์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาอธิบายถึง แนวทางการดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยงกระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ ขอเชิญติดตามรายละเอียดได้เลยค่ะ

 

BEGIN WITH AWARENESS

เพิ่มการตระหนักรู้ เพิ่มโอกาสการรักษา

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาเริ่มต้นชี้แจงถึงปัญหานี้ว่า ผู้ป่วยกระดูกสะโพกหักจะมีอัตราการตายในปีแรกร้อยละ 18 มากกว่าอัตราการตายของประชากรทั่วประเทศ 8 เท่า ซึ่งถือว่าสูงมาก
ที่ผ่านมาทางราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ และมูลนิธิโรคกระดูกพรุน รณรงค์ป้องกันการเกิดกระดูกหักซ้ำมาร่วม 20 ปีแล้วเพราะเห็นความสำคัญว่า ถ้าเกิดการหักซ้ำจะทำให้มีอัตราตายสูงแต่แม้จะรณรงค์มานาน ทว่าความตระหนักรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ในประชากรไทยยังมีน้อย

ล่าสุดมีการศึกษาในโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์พบว่ามีผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหักซ้ำเข้ารับการรักษาเพียงร้อยละ10 ทั้งๆ ที่ควรจะเข้ารับการรักษาทั้งหมดหรือครบ 100 เปอร์เซ็นต์ถ้าเป็นในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ร้อยละ 30 ยุโรปร้อยละ 40 แสดงว่าความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ยังเป็นปัญหาระดับโลก จึงจำเป็นต้องมีการสื่อสารให้ทราบอยู่เสมอ

ในวัยเด็กเล็กนั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องกระตุ้นให้เด็กออกไปเล่นเป็นประจำ การเล่นในที่นี้หมายถึงการเล่นในลานกว้างเช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ไม่ใช่เล่นในห้องแคบๆ เด็กๆ ในวัยอนุบาล วัยประถม เรื่อยไปจนถึงวัยรุ่นจะต้องได้วิ่ง กระโดดโลดเต้นเพราะวิธีนี้จะทำให้กระดูกแข็งแรง ถ้าได้เล่นกีฬาเป็นประจำจะดีมาก เพราะช่วงเวลานี้นับเป็นเวลาทองในการสะสมมวลกระดูก

 

รูปภาพจาก pixels

 

 

POLICY SUPPORT

ขยายโอกาสการรักษาด้วยนโยบาย

ในปีนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายมาว่าโรคกระดูกพรุนเป็นโรคสำคัญที่ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน แต่ยาที่ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนยังไม่ได้รับการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ ผู้ป่วยที่ใช้สิทธิบัตรทอง ประกันสังคม จะต้องจ่ายเอง จึงพบว่าหลังจากที่หมอผ่าตัดรักษาคนไข้ที่มีกระดูกหักจากปัญหากระดูกพรุนไปแล้ว มักจะไม่สั่งจ่ายยารักษากระดูกพรุนต่อเพราะติดปัญหาดังกล่าว

ณ ขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุข กำลังดำเนินการเรื่องการผลักดันยารักษาโรคกระดูกพรุน ให้อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเร็วๆ นี้ นับเป็นข่าวดีและถือเป็นการเตรียมพร้อมเรื่องบริการสาธารณสุขเพื่อเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยสมบูรณ์ คือมีประชากรวัย 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ซึ่งประเทศไทยประเมินกันว่าจะเข้าสู่เกณฑ์ดังกล่าวภายในปี 2564 และเพิ่มอัตราส่วนประชากรสูงวัยไปเป็นร้อยละ 28 ภายในปี 2574

 

 

LIFELONG PROTECTION

แนวทางป้องกันกระดูกพรุนทุกช่วงวัย

ในกลุ่มประชาชนทั่วไป รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาอธิบายว่า ต้องทราบว่าการป้องกันโรคกระดูกพรุนนั้น จำเป็นต้องลงมืออย่างจริงจังตั้งแต่ยังเป็นทารกต่อเนื่องไปจนถึงวัยสูงอายุจึงจะได้ผล
เริ่มต้นจากทันทีที่ทราบว่ามีทารกอยู่ในครรภ์ คุณผู้หญิงที่เป็นว่าที่คุณแม่ทั้งหลายต้องบำรุงร่างกายให้ได้รับโปรตีนและแคลเซียมให้เพียงพอ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วก็ต้องให้กินนมแม่ และเมื่อถึงวัยที่กินอาหารปกติได้แล้ว ก็ต้องบำรุงให้กินอาหารที่มีทั้งแคลเซียมและโปรตีนให้เพียงพอเช่นกัน

รูปภาพจาก pixels

 

ในวัยเด็กเล็กนั้น ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือต้องกระตุ้นให้เด็กออกไปเล่นเป็นประจำ การเล่นในที่นี้หมายถึงการเล่นในลานกว้าง เช่น สวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น ไม่ใช่เล่นในห้องแคบๆ เด็กๆ ในวัยอนุบาล วัยประถม เรื่อยไปจนถึงวัยรุ่นจะต้องได้วิ่ง กระโดดโลดเต้นเพราะวิธีนี้จะทำให้กระดูกแข็งแรง ถ้าได้เล่นกีฬาเป็นประจำจะดีมาก เพราะช่วงเวลานี้นับเป็นเวลาทองในการสะสมมวลกระดูก

 

รูปภาพจาก pixels

 

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาระบุว่า เมื่อถึงวัยทำงาน นอกจากกินอาหารที่มีโปรตีนและแคลเซียมให้เพียงพอ ออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันแล้ว ต้องงดปัจจัยทำลายมวลกระดูก ได้แก่ เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ และการใช้ยาสเตียรอยด์โดยไม่จำเป็น เนื่องจากทุกวันนี้ ยังตรวจพบคนไข้โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกร และผู้ใช้แรงงานว่า มีปัญหากระดูกพรุนเพราะมีการใช้ยาสเตียรอยด์แก้ปวดต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ จำนวนมาก ส่วนในวัยสูงอายุมักตรวจพบปัญหาการขาดโปรตีน เมื่อกินอาหารที่มีโปรตีนไม่พอก็ส่งผลให้พบปัญหากระดูกพรุนมาก และขาดการออกกำลังกาย

 

 

GET SUNSHINE, GET VITAMIN D

รับแสงแดด เพิ่มวิตามินดีแบบฟรีๆ

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาชี้แจงเพิ่มเติมว่า คนทั่วไปคิดว่าการที่คนไทยเราอยู่ในเขตเส้นศูนย์สูตรได้รับแสงแดดมากกว่าชาวตะวันตก ข้อนี้เป็นความจริงที่อาจเป็นตัวช่วยให้กระดูกแข็งแรงได้บ้างแต่ตอนนี้สังคมไทยเรามีค่านิยมเรื่องผิวขาว คนทั่วไปก็หันมาทาครีมกันแดด ทำให้ไม่ได้รับรังสี UVB ซึ่งช่วยกระตุ้นการสร้างวิตามินดีที่มีส่วนทำให้กระดูกแข็งแรงไปเสียอีก

ข้อเท็จจริงคือมีการศึกษาในปัจจุบันพบว่า คนไทยมีอัตราการเป็นโรคกระดูกพรุนไม่น้อยกว่าชาวตะวันตก มีอุบัติการณ์กระดูกสะโพกหักอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง

ดังนั้นเรื่องการรับแสงแดดเพื่อช่วยให้กระดูกแข็งแรงจึงอยากให้ทุกคนเปิดใจและเตือนตัวเองว่า ถ้าอยากมีกระดูกแข็งแรง อยากให้ร่างกายได้รับวิตามินดีฟรีๆ ก็ต้องออกไปเดินรับแสงแดดทุกวันอย่างน้อยวันละ 15 นาที ส่วนการทาครีมกันแดดนั้น แนะนำให้ทาที่ใบหน้าและลำคอเพราะเป็นบริเวณที่ผิวบอบบาง ส่วนแขนขานั้นต้องปล่อยให้ได้รับแสงแดดบ้าง

ส่วนผู้ที่อยู่ในอาคารตลอดเวลา พอออกไปทำกิจกรรมกลางแจ้งก็ใส่เสื้อแขนยาว สวมกางเกงขายาว สวมหมวกปีกกว้างปกปิดมิดชิด ไม่ได้ออกไปรับแสงแดดเลย จะทำให้ร่างกายขาดวิตามินดี จึงขาดตัวช่วยในการดูดซึมแคลเซียมที่ลำไส้และตัวช่วยการทำงานของกล้ามเนื้อ พอกล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนแอ โอกาสเกิดโรคกระดูกพรุนและกระดูกหักก็เพิ่มสูงขึ้น

 

รูปภาพจาก pixels

 

 

OUTDOOR EXERCISE IS BETTER

ออกกำลังกายกลางแจ้งจะได้ประโยชน์มากกว่า

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาระบุว่า ปัจจุบันมีกระแสนิยมไปออกกำลังกายตามฟิตเนส นั่นถือเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่าถ้าไปออกกำลังกายกลางแจ้งให้ร่างกายได้รับแสงแดด คุณหมอแนะนำว่า ไหน ๆ จะออกกำลังกายสร้างเสริมสุขภาพให้กล้ามเนื้อและกระดูกแข็งแรงทั้งที ควรจะได้ประโยชน์ให้ครบถ้วน แนะนำให้เลือกการออกกำลังกายกลางแจ้ง เช่น เดิน วิ่ง รำไท้เก๊ก พายเรือคายัค ปีนเขา เดินป่า ทำให้ได้รับทั้งอากาศบริสุทธิ์และแสงแดด ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายสร้างวิตามินดี ถ้าจะให้ดีควรพาสมาชิกในครอบครัวออกไปใช้เวลาร่วมกัน เพิ่มโอกาสสร้างความสัมพันธ์อันดีในครอบครัวได้อีกด้วย

 

รูปภาพจาก pixels

 

 

HIDDEN RISK FACTOR

เบาหวาน เพิ่มความเสี่ยงกระดูกพรุน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยาทิ้งท้ายว่า หลายคนอาจไม่ทราบว่าการป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือมีน้ำตาลในเลือดสูงต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ มีผลทำให้เสี่ยงกระดูกพรุนกระดูกหักซ้ำได้

คุณหมอชี้แจงเพิ่มเติมว่า ขณะนี้แพทย์มีความรู้ความเข้าใจมากขึ้นว่า ไขมัน กระดูก กล้ามเนื้อ และสมองมีการสื่อสารระหว่างกันตลอดเวลา ดังนั้นการที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปทำให้ระบบเมแทบอลิกทำงานผิดปกติ ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์จะส่งผลให้ฮอร์โมนในร่างกายหลาย ๆ ชนิดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้าง – สลายมวลกระดูกทำงานผิดปกติ

ผลลัพธ์คือ คนกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุนกระดูกหักซ้ำมากขึ้นได้ ยังไม่รวมกับปัญหาภาวะน้ำหนักตัวเกินขาดการออกกำลังกาย ทรงตัวได้ไม่ดี ที่จะไปเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดอุบัติเหตุหกล้มตามมาได้อีกมาก ทางที่ดีต้องกินอาหารที่มีผักผลไม้สูง ลดปริมาณแป้งและน้ำตาล เพื่อช่วยลดโอกาสเสี่ยงโรคเบาหวาน

แนะนำให้ตรวจร่างกายเป็นประจำทุกปี จะช่วยให้ทราบผลน้ำตาลและไขมันในเลือดนำมาใช้ในการดูแลสุขภาพ ลดเสี่ยงทั้งเบาหวานและกระดูกพรุนในอนาคตได้

 

 

DID YOU KNOW? คุณควรเข้ารับการตรวจวัดมวลกระดูกหรือไม่

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์สัตยา โรจนเสถียร อธิบายเพิ่มเติมว่า ในการป้องกันและลดเสี่ยงกระดูกพรุน แพทย์จะแนะนำให้บุคคลกลุ่มเสี่ยงเข้าตรวจวัดมวลกระดูกประเมินความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน กระดูกหักซ้ำ ตามข้อบ่งชี้ ดังนี้

เพศหญิง อายุ 65 ปีขึ้นไป หรือเพศชาย อายุ 70 ปีขึ้นไปหรือเพศหญิง อายุต่ำกว่า 65 ปี หรือเพศชาย อายุต่ำกว่า 70 ปีแต่ต้องมีปัจจัยเสี่ยงอย่างน้อย 1 ข้อ ได้แก่

• มีภาวะหมดประจำเดือนก่อนอายุ 45 ปี

• มีภาวะขาดฮอร์โมนเอสโทรเจนก่อนเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนต่อเนื่องนานกว่า 1 ปี

• ได้รับยากลูโคคอร์ติคอยด์ต่อเนื่อง

• น้ำหนักเกิน

• มีประวัติบิดามารดากระดูกสะโพกหัก

• เป็นหญิงวัยหมดประจำเดือนที่มีดัชนีมวลกายน้อยกว่า 19 กก./ตร.ม.

• ตรวจพบภาวะกระดูกบางหรือกระดูกสันหลังผิดรูปจากภาพเอกซเรย์

• มีประวัติกระดูกหักจากอุบัติเหตุไม่รุนแรง

• ส่วนสูงลดลง

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

จาก คอลัมน์ HOT ISSUE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 484