เป็นโรคไต..ทำไมห้ามกินทุเรียน ?

เป็นโรคไต..ทำไมห้ามกินทุเรียน ?

เดี๋ยวนี้ไปที่ไหน ๆ ก็เห็นทุเรียนรอบด้านเต็มไปหมด ใช่ไหมคะ

ทั้งทุเรียนสด ๆ ทุเรียนทอด ทุเรียนอบกรอบ ไอศกรีมทุเรียน

ชาทุเรียน ทุเรียนอบแห้ง และอื่น ๆ อีกเต็มไปหมด

แล้วแบบนี้จะอดใจไหวกันได้ยังไง

 

อยากกินก็อยากกิน แต่ก็ถูกห้าม คนรอบข้างก็เตือนกันจัง ว่าอย่าไปกินมั่งล่ะ อันตรายมั่งล่ะ

แต่ว่า มันจะจริงไหม แล้วถ้าจริง เป็นเพราะอะไรกันล่ะ ??

 

วันนี้อายจะมาตอบให้ค่ะ ผู้ป่วยและญาติหลาย ๆ คน จะได้เข้าใจมากขึ้นอย่างแน่นอน 

แต่ก่อนจะไปดูกันต่อ ถ้าเห็นว่าบทความนี้มีประโยชน์กับตัวคุณ หรือกับเพื่อน ๆ ของคุณ ช่วยแชร์กันไปได้เลยนะคะ อายจะขอบคุณมาก ๆ เลยค่ะ

เกริ่นคร่าว ๆ นะคะ ว่า ทุเรียน ได้ขื่อว่า เป็นราชาผลไม้ ที่ทั้งลูก (เนื้อ+เปลือก) มีสารอาหารที่สูงมาก

 

(ถ้าเป็นวัตถุดิบ คงเทียบเท่า Super food กันเลยทีเดียว) โดยในเนื้อของทุเรียน จะมีสารประกอบซัลเฟอร์หรือกำมะถัน เช่น thiols, thioethers, ester และ sulphides

 

ที่ทำให้ทุเรียนมีกลิ่นเฉพาะตัวแรง ..นึกกลิ่นกันออกใช่ไหมคะ 5555

 

ตัวอย่าง พันธุ์ทุเรียนยอดฮิต และจำนวนกรัม ที่แนะนำ สำหรับ 1 หน่วยบริโภค

 

ทุเรียนก้านยาว 50 กรัม

ทุเรียนกระดุม 58 กรัม

ทุเรียนชะนี 58 กรัม

ทุเรียนพวงมณี 55 กรัม

ทุเรียนหมอนทอง 50 กรัม

 

 

 

 

คุณค่าทางโภชนาการที่สำคัญ ๆ ของทุเรียน น้ำหนัก 100 กรัม

พลังงาน 174 กิโลแคลอรี

คาร์โบไฮเดรต 27.09 กรัม

ไขมัน 5.33 กรัม

โปรตีน 1.47 กรัม

ธาตุฟอสฟอรัส 39 มิลลิกรัม

ธาตุโพแทสเซียม 436-680 มิลลิกรัม (แล้วแต่พันธุ์ทุเรียน)

ธาตุโซเดียม 2 มิลลิกรัม

 

ถึงแม้ทุเรียนจะมีสารอาหารสูง ซึ่งสำหรับคนที่เป็นโรคไตแล้ว ถือว่าอันตรายอยู่เหมือนกัน เพราะทั้งพลังงานสูง น้ำตาลสูง ไขมันสูง โพแทสเซียมสูง

มีเคสนึงเคยมาเล่าให้อายฟังเหมือนค่ะ ว่าผู้ป่วยกินทุเรียนแล้ว หลับไปเลย ไม่ตื่นอีก.. เพราะหัวใจหยุดเต้นไปเลยจากโพแทสเซียมที่สูง คือ กินเข้าไปในปริมาณเยอะเลยค่ะ (อันนี้คนที่ญาติมาเล่าให้ฟังนะคะ)

 

นี่ก็เป็นกรณีศึกษาค่ะ ว่า เราต้องระวังเรื่องการกินให้มากกว่าคนปกติทั่วไป

แต่สำหรับบางคน ถ้าดูผลเลือดแล้วโพแทสเซียมต่ำ ไขมันอยู่ในระดับที่ดี อายุยังน้อย ๆ ไม่มีปัญหาเบาหวาน ไขมัน หัวใจ ความดันโลหิตสูง ก็อาจจะทานได้มากกว่าผู้ป่วยคนอื่นหน่อย ซึ่งอันนี้แต่ละคนคงต้องพิจารณาเคสตัวเองแล้วล่ะค่ะ

 

 

ผลไม้ที่เรียกได้ว่าโปแทสเซียมสูง คือ ผลไม้ที่มีค่าตั้งแต่ 201 – 450 มิลลิกรัม 

ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วทุเรียน 100 กรัม (หรือ 1-2 พูเล็ก) 

จะมีโพแทสเซียมระหว่าง 400-680 มิลลิกรัม (แล้วแต่พันธุ์)

 

และใน 1 วันเราควรได้รับโพแทสเซียมไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัม แค่ทุเรียน 1 พูก็ ประมาณ 25% ของวันแล้ว

 

เพราะฉะนั้น อายแนะนำว่า

ถ้าอยากกินมากจริง ๆ นะคะ ขอแค่ “ระดับชิมก็พอ” เพราะว่า ถ้าโพแทสเซียมสูงขึ้นมา จะส่งผลต่อหัวใจโดยตรงเลยค่ะ

 

**แต่ถ้าไม่อยาก หรืออดใจไหว ก็หันไปทานอย่างอื่นดีกว่าค่ะ

 

บางทีกินนิดเดียวก็อาจแสดงอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่ออกได้เลย

(แต่ละคนอาการเกิดช้าเร็วต่างกัน ขึ้นกับผลเลือดและความแข็งแรงของร่างกายค่ะ)

 

สรุปแล้ว  ถึงทุเรียน จะเป็นผลไม้ที่คุณค่าทางโภชนาการสูงมาก และมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย

แต่สำหรับคนที่เป็นโรคไต อายก็ยังแนะนำว่าควรระวัง “ชิมแค่นิด ๆ หน่อย ๆ พอค่ะ เพื่อความปลอดภัย”

โอเคไหมคะ เข้าใจตรงกันแล้วนะคะ

 

เชื่อว่า หลายคนที่อ่านมาถึงตรงนี้

คงสบายใจขึ้นแล้ว ว่า จริง ๆ ก็กินทุเรียนได้ เพียงแต่กินได้ในปริมาณที่น้อยมาก ๆ และไม่ควรกินบ่อยด้วย

ทางที่ดี ไปกินผลไม้ที่เหลืออีกเป็นพันชนิด ที่เหมาะโรคที่เราาเป็นดีที่สุดเลยค่ะ

 

เป็นยังไงกันบ้างคะ กับ เหตุผลว่า ทำไมเป็นโรคไต ถึงห้ามกินทุเรียน ?

 

สุดท้ายนี้ อายอยากจะฝากไว้ว่า “จริง ๆ แล้วผู้ป่วยโรคไต สามารถกินอาหารได้เกือบทุกอย่างล่ะค่ะ เพียงแต่จะจำกัดเรื่อง ปริมาณที่กินและปรับเปลี่ยนการกินให้สอดคล้องกับผลเลือดของเรา เน้นย้ำว่า ของเรา นะคะ

อย่ามองว่า คนอื่นทำไมกินได้ เรากินไม่ได้ แบบนี้จะเป็นทุกข์มาก ๆ เลยค่ะ”

ขอให้ทุกคนมีความสุขและแข็งแรง ๆ กันถ้วนหน้า นะคะ

อย่าลืมแชร์บทความนี้ให้คนที่คุณรักกันด้วยนะค๊าา ขอบคุณมากค่ะ 

 

ข้อมูลอ้างอิง :

งานวิจัยฉบับสมบูรณ์ ผลไม้ไทย ผศ. ดร. รัชนี คงคาฉุยฉาย และคณะ

http://www.pharmacy.mahidol.ac.th

https://medthai.com

http://www.rtamedj.pmk.ac.th


ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash

ขอขอบคุณข้อมูลจาก kidneymeal