ผักเบี้ยใหญ่ สมุนไพรไทยแหล่งโอเมก้า 3 ต้านอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม

ผักเบี้ยใหญ่ สมุนไพรไทยแหล่งโอเมก้า 3 ต้านอัลไซเมอร์ สมองเสื่อม

ผักเบี้ยใหญ่ สุดยอดแหล่งโอเมก้า 3

ผักเบี้ยใหญ่ หรือ ผักอีหลี (ไทยใหญ่-แม่ฮ่องสอน) ผักตาโค้ง (นครราชสีมา) มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Portulaca oleracea L. อยู่ในวงศ์ Acanthaceae เป็นพืชตระกูลเดียวกับคุณนายตื่นสาย ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองสด โดยจะบานตอนเช้าและหุบตอนแดดร่ม ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบเป็นรูปลิ่ม หรือรูปไข่กลับ ผิวใบเรียบเป็นมัน ด้านหลังใบเป็นสีเขียวแก่ ส่วนท้องใบเป็นสีแดงเข้ม ลำต้นเตี้ยเลื้อยทอดไปตามพื้นดิน หรือบางครั้งปลายตั้งชูขึ้นได้สูงประมาณ 5-10 เซนติเมตร ลำต้นอวบน้ำเป็นสีเขียวอมแดง ก้านกลม จัดเป็นพรรณไม้กลางแจ้งที่ขึ้นได้เองตามธรรมชาติ พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศ เป็นพืชที่มีอายุเพียงปีเดียว ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด

 

สรรพคุณผักเบี้ยใหญ่

ข้อมูลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ผักเบี้ยใหญ่ เป็นพืชที่ทางองค์การอนามัยโลกระบุว่าใช้เป็นยารักษาโรคมากที่สุด

- ในด้านการเป็นยาขับปัสสาวะ แก้โรครูมาติก และนรีเวชวิทยา

- ด้านการเป็นยาระงับประสาท ระงับปวด บำรุงหัวใจ แก้ไข้ ท่อขับปัสสาวะพิการ ขับพยาธิ ขับน้ำดี และแก้ท้องร่วง

- การใช้เป็นยาภายนอก อาทิ ใช้เป็นยาแก้แผลเปื่อย ผิวหนังอักเสบออกผื่น ผื่นแดงและตุ่มน้ำตามผิวหนัง

ปัจจุบันมีงานวิจัยใหม่ๆ แสดงถึงฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเนื้อเยื่อ ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในเลือดรักษาโรคผิวหนัง และใช้ในเป็นส่วนผสมบำรุงผิวในเครื่องสำอาง

และที่สำคัญ ผักเบี้ยใหญ่น่าจะนำมาใช้ในการป้องกันและรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้ เนื่องจากมีงานวิจัยพบว่า ที่ความเข้มข้น 100 ไมโครกรัมต่อมิลลิลิตร สารกลุ่มอัลคาลอยด์จากผักเบี้ยใหญ่ สามารถยับยั้งฤทธิ์ของเอ็นไซม์ acetylcholinesterase ได้สูงมาก ซึ่งปัจจุบันยาที่มีกลไกการออกฤทธิ์ดังกล่าวทางองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) ได้รับรองให้ใช้เป็นยารักษาโรคสมองเสื่อม และโรคอัลไซเมอร์ได้

 

การแพทย์พื้นบ้าน ผักเบี้ยใหญ่

ส่วนในทางการแพทย์พื้นบ้านและการใช้เป็นยาในอดีต ผักเบี้ยใหญ่มีสรรพคุณ ดังนี้

ใช้ทั้งต้น แก้ไอ ช่วยให้เจริญอาหาร ช่วยห้ามเลือด แก้ร้อน ดับพิษ แก้เลือดออกตามไรฟัน แก้บวม แก้บิดถ่ายเป็นเลือด และช่วยหล่อลื่นลำไส้

ใบ ใช้แก้ขัดเบา แก้กระหายน้ำ แก้ไอ แก้อาการอักเสบและแผล แก้เจ็บคอ เป็นยาขับปัสสาวะ แก้ไข้ แก้บิด ขับพยาธิตัวกลม ตำพอกแผลถูกไฟหรือน้ำร้อนลวก แก้โรคผิวหนัง

เมล็ด เป็นยาระบายอ่อนๆ เป็นยาขับปัสสาวะ และเป็นยาถ่ายพยาธิ

ผักเบี้ยใหญ่มีรสเปรี้ยว นิยมรับประทานเป็นผักสด ผักสลัด หรือนำมาต้ม ลวก รับประทานร่วมกับน้ำพริก เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบทานอาหารเจหรือมังสวิรัติ เพราะมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก โดยเฉพาะใบที่มีโอเมก้า 3 สูงมาก และมีข้อดีเหนือกว่าน้ำมันปลา คือ มีเส้นใยอาหาร ให้แคลอรีต่ำ ไขมันต่ำ โอเมก้า 3 เป็นสารสำคัญที่ส่งผลดีต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดไขมันตัวร้าย อย่างโคเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ช่วยเพิ่มไขมันตัวดี HDL

 

นอกจากนี้ ผักเบี้ยใหญ่ยังมีวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิด มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ เบต้าแคโรทีน วิตามินบี วิตามินซี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม โพแทสเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก ลิเทียม โฟเลท และเป็นแหล่งของกลูตาไธโอน กรดแอลฟาไลโนเลนิก (ชนิดของกรดไขมันโอเมก้า 3) เมลาโทนิน

 

ดอกใช้สกัดสีในอุตสาหกรรมอาการ โดยให้รงควัตถุสี betalain 2 ชนิด คือ บีตาไซยานิน (betacyanin) ที่ให้สีแดงถึงม่วง และบีตาแซนทิน (betaxanthin) ที่ให้สีเหลืองส้ม

 

ข้อควรระวัง สตรีมีครรภ์ไม่ควรใช้ เนื่องจากพบว่ามีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อเรียบหดตัว ใบสดของผักเบี้ยใหญ่ 100 กรัม มีกรดออกซาลิก 1.31 กรัม หรือ 9% ของน้ำหนักแห้ง ผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในไตจึงควรระวังการใช้ นอกจากนี้ ผักเบี้ยใหญ่ยังมีปริมาณโพแทสเซียมสูง จึงควรระวังการใช้ในผู้ป่วยที่ต้องจำกัดปริมาณโพแทสเซียม เช่น ผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่มีภาวะโพแทสเซียมสูง

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate