3 โรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้ว ทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็น กระดูกพรุน

3 โรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้ว ทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็น กระดูกพรุน

3 โรคเสื่อม เสี่ยง กระดูกพรุน


โรค กระดูกพรุน ส่วนใหญ่มักพบในคนไข้ผู้สูงอายุ เฉลี่ยอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป และเป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เนื่องจากผู้หญิงช่วง 5 ปีแรกของการเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนจะสูญเสียมวลกระดูกมาก เนื้อกระดูกลดลงอย่างรวดเร็ว

โรคกระดูกพรุนยังพบได้ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น ผู้ป่วยโรคทางเดินอาหาร ซึ่งมีความผิดปกติในการดูดซึมแคลเซียม หรือผู้ป่วยที่ได้รับยาในกลุ่มสเตียรอยด์เป็นประจำ รวมถึงผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับตับและไตก็เข้าข่ายมีความเสี่ยงภาวะกระดูกพรุนเช่นกัน คุณหมอจึงยกตัวอย่าง 3 โรคร้ายที่เมื่อเป็นแล้วทำให้มีภาวะเสี่ยงเป็นกระดูกพรุนค่ะ

รูปภาพจาก pixels

1. โรคเบาหวาน (Diabetes)
ภาวะกระดูกพรุนที่เกิดจากโรคเบาหวาน ในที่นี้หมอจะกล่าวถึง 2 ประเภท คือ โรคเบาหวาน

ประเภทที่ 1 (Type 1 Diabetes) อันเกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ ซึ่งมักเป็นมาตั้งแต่กำเนิด และโรคเบาหวานประเภทที่ 2 (Type 2 Diabetes) คือ โรคเบาหวานที่เกิดจากตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน จนเกิดภาวะดื้อ อินซูลิน (Insulin Resistance) ซึ่งพบในกลุ่มผู้สูงอายุเป็นส่วนใหญ่

ผลกระทบต่อกระดูกจากโรคเบาหวานประเภทที่ 1 คือ เกิดน้ำตาลจับตัวกับเนื้อเยื่อในเซลล์ต่างๆ

เช่น คอลลาเจน แล้วเกิดปฏิกิริยาไกลเคชั่น หรือ AGEs (Advanced Glycation End Products) ทำให้เลือดไม่ไหลเวียนเกิดการอุดตันของเส้นเลือด ซึ่งพบว่าโรคเบาหวานชนิดนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกพรุน เกิดความเสื่อมของเซลล์ในกระดูก ทำให้มวลกระดูกลดลงอย่างรวดเร็วชัดเจนมากลุกลามไปจนถึงกระดูกหักได้ เนื่องจากมีน้ำตาลในเลือดสะสมสูงเกินไป

ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 ได้รับผลกระทบจากการที่ได้รับยากลุ่ม TZD-Pioglitazone (ยากลุ่มไพโอกลิตาโซน) เป็นเวลานานเพื่อรักษาอาการ แล้วยากลุ่มนี้ไปยับยั้งการสร้างของมวลกระดูกเกิดใหม่ส่งผลให้กระดูกแตกเปราะ ทั้งมวลกระดูกยังเสื่อม บางลง หักง่าย โดยเฉพาะเมื่อตรวจสแกนที่เครื่องตรวจมวลกระดูกจะพบว่ามีจุดสีขาวในมวลกระดูกจำนวนมาก นั่นคือสาเหตุของการเป็นภาวะกระดูกพรุนของผู้ป่วยโรคเบาหวานประเภทที่ 2 นี้

 

2. โรคไต (Kidney Disease)

ไตที่อยู่ในภาวะปกติทำหน้าที่กำจัดของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากกระแส ซึ่งของเสียและน้ำส่วนเกินนั้นคือ ปัสสาวะ

ส่วนผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง เป็นภาวะที่ไตไม่สามารถขับของเสียและน้ำที่เกินออกจากกระแสโลหิตได้ ทำให้ของเสียและของเหลวคั่งอยู่ในกระแสเลือดมากเกินไป จนเกิดภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ในระยะแรกผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังอาจไม่พบอาการผิดปกติ แต่อาการในระยะสุดท้ายผู้ป่วยต้องล้างไตหรือเข้ารับการเปลี่ยนไตจึงจะมีชีวิตอยู่ได้

รูปภาพจาก unsplash

 

เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยโรคไตนั้นมีภาวะฟอสเฟตคั่ง ร่างกายขับฟอสเฟตออกไม่ได้ ทำให้มีฮอร์โมนพาราไทรอยด์เพิ่มมากขึ้นจนค่าแคลเซียมในเลือดต่ำมาก ฮอร์โมนพาราไทรอยด์เป็นฮอร์โมนที่สร้างสมดุลของความหนืดและแร่ธาตุต่างๆ ในเลือดสำหรับคนที่ร่างกายปกติ

โดยปกติเมื่อฟอสเฟตในเลือดสูงเกินร่างกายจะพยายามขับออก โดยการหลั่งฮอร์โมนพาราไทรอยด์ออกมาตลอดเวลา เพื่อสร้างสมดุลกรด – ด่างของเลือด เมื่อเลือดมีภาวะเป็นกรดมากเกินไป จึงทำให้การสร้างกระดูกนั้นลดลงแถมยังเกิดการสลายของมวลกระดูกเพิ่มมากขึ้นมีความเสี่ยงเกิดกระดูกหัก จึงเป็นภาวะของโรคกระดูกพรุน

เมื่อสมดุลของกรด – ด่างในเลือดเสีย เท่ากับความสมดุลของแคลเซียมและฟอสเฟตในมวลกระดูกเสียไปด้วย จึงเกิดภาวะกระดูกพรุนแทรกซ้อนสำหรับผู้ป่วยโรคไตนั่นเอง การรักษาภาวะกระดูกพรุนส่วนใหญ่ต้องมั่นใจว่าไม่มีความผิดปกติของไต ซึ่งยาจะเข้าไปช่วยขับฟอสเฟตออกจากกระดูกได้

นอกจากนี้อีกภาวะหนึ่งในคนไข้โรคไตคือ มีอาการกระดูกยึดหรือข้อต่อติด (Frozen Bone) กระดูกถูกกระตุ้นจากความไม่สมดุลของแคลเซียมและฟอสเฟตในเลือด เกิดการแข็งยึดติด เป็นภาวะกระดูกตาย และเกิดกระดูกเปราะแตกหักง่าย ความยืดหยุ่นของมวลกระดูกหายไป

และอีกหนึ่งปัจจัยคือ ผู้ป่วยโรคไตมักถูกสั่งเลี่ยงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง อาทิ อาหารประเภทไข่แดง นมทุกรูปแบบ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ต เนยแข็ง งดเครื่องในสัตว์ ปลาทั้งกระดูก เมล็ดพืช ถั่วต่าง ๆ จึงทำให้ผู้ป่วยโรคไตนั้นขาดฟอสเฟตและแคลเซียมในการสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรง

 

3. โรคถุงลมโป่งพอง (Emphysema)

โรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคที่เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างผิดปกติของถุงลมส่วนปลาย ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งในกลุ่มโรคปอดอุดตันเรื้อรังส่วนใหญ่พบในคนไข้เพศชายมากกว่าเพศหญิง สาเหตุเบื้องต้นจากการเป็นโรคหลอดลมเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน ขาดเอนไซม์ในปอด แถมยังมีปัจจัยเรื่องการสูบบุหรี่ร่วมด้วย ซึ่งเป็นสาเหตุที่พบบ่อยสุด รวมทั้งการรับสารพิษหรือมลพิษทางอากาศเป็นเวลานาน ก็ทำให้ถุงลมในปอดไม่ทำงาน เกิดการขยายจนโตเกินขนาด

ส่วนใหญ่ผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการหายใจเร็ว สัมพันธ์กับออกซิเจนในปอดที่ลดลง จึงทำให้เวลาหายใจลำบาก เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวลาเดินหรือทำงานในชีวิตประจำวันอาการหายใจยิ่งลำบาก เป็นมากในขณะหายใจออกมากกว่าการหายใจเข้า เพราะมีการอักเสบของหลอดเลือดภายในปอด

สาเหตุของการป่วยเป็นโรคกระดูกพรุนของคนไข้ถุงลมโป่งพองมี 3 สาเหตุหลัก คือ

• อาการเหนื่อยง่าย ทำให้มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว จึงไม่มีการออกกำลังกาย ทำให้กระดูกเสื่อมสภาพได้เร็ว ไม่มีการเสริมสร้างมวลกระดูกที่แข็งแรง เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้น
• ผู้ป่วยที่เป็นโรคถุงลมโป่งพองนั้นขาดวิตามินดี การไม่ได้รับวิตามินดีจากแสงแดดทำให้กล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เกิดการอักเสบภายใน ทำให้มวลกระดูกลดลง เกิดความเสี่ยงต่อกระดูกหัก
• การได้รับยาสเตียรอยด์หรือยาปฏิชีวนะในกลุ่มขยายหลอดลมซึ่งต้องกินเป็นระยะเวลานาน ยากลุ่มนี้มีฤทธิ์ทำลายมวลกระดูก
• 3 โรคเสื่อมนี้ เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนที่อันตราย สำหรับการรักษาภาวะกระดูกพรุน ในปัจจุบันมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ ให้ยากลุ่มลดอัตราการสลายของมวลกระดูกและให้ยากลุ่มที่เสริมสร้างมวลกระดูก
• ทั้งนี้การใช้ยารักษาโรคกระดูกพรุนควรจะอยู่ภายใต้คำแนะนำที่เหมาะสมจากแพทย์ เนื่องจากยาแต่ละประเภทมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกัน
• ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดภาวะกระดูกพรุนจึงดีที่สุด การกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ เช่น นม โยเกิร์ต ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ปลาตัวเล็กตัวน้อยกินได้ทั้งกระดูกรวมถึงการรับวิตามินดีจากแสงแดดบ่อยๆ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณวันละ 15 – 20 นาที นับเป็นวิธีการป้องกันภาวะกระดูกพรุนได้ดีที่สุดค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate
แหล่งที่มาจาก คอลัมน์ HAPPY BONE นิตยสารชีวจิต ฉบับ 494