รู้มั้ย ผอมไปเสี่ยง กระดูกพรุน

รู้มั้ย ผอมไปเสี่ยง กระดูกพรุน

ผอมเกินไป เสี่ยง กระดูกพรุน
รู้มั้ย ผอมไปเสี่ยง กระดูกพรุน ทราบกันหรือไม่คะ

นอกจากสถานการณ์ความอ้วนที่เป็นปัญหากับคนทุกวัยตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่แล้ว เรายังต้องเผชิญกับภาวะ “ ผอมเกินไป ” อีกด้วย

ในอดีตคนผอมมักเกิดจากปัญหาทุพโภชนาการ หรือขาดสารอาหาร แต่ในปัจจุบันหากไม่เกิดจากพฤติกรรมเลือกกินมากไป ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานเมากกว่าปกติหรือมีกิจกรรมที่ใช้พลังงานเกินพอดี ก็มักมีปัญหาหลักเกี่ยวกับโรคทางใจ โดยเฉพาะโรคกลัวอ้วน จนทำให้ไม่ยอมกินอาหารในปริมาณที่เหมาะสม หรือกินแล้วมีพฤติกรรมล้วงคอให้อาเจียน หรือสวนให้ขับถ่าย เป็นต้น

แต่คุณจะรู้ได้อย่างไรว่าร่างกายคุณผอมไปหรือเปล่า… คุณทำได้ด้วยการนำน้ำหนักและส่วนสูงมาคำณวนหา ค่าบีเอ็มไอ (Body Mass Index: BMI) ดังนี้ค่ะ

 

 

รูปภาพจาก pixels

 

วิธีคำนวณค่าบีเอ็มไอ
บีเอ็มไอ =

น้ำหนัก (กิโลกรัม)

ส่วนสูง (เมตร) ²

โดยหากยึดค่าบีเอ็มไอของคนเอเชียตามกำหนดของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ภาวะที่เรียกว่า ผอมเกินไป คือค่าบีเอ็มไอต่ำกว่า 18.4

ค่าบีเอ็มไอที่ต่ำขนาดนี้ จะมีผลต่อชีวิตและสุขภาพอย่างไรบ้าง ไปฟังกัน…

 

พยากรณ์สุขภาพ บีเอ็มไอ <18

พันโทหญิง แพทย์หญิงสุมาภา ชัยอำนวย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคข้อและรูมาติสซั่ม ประจำกองอายุรกรรม โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อธิบายว่าคนที่มีค่าบีเอ็มไอต่ำกว่า 18 มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่อไปนี้

1. กลุ่มโรคทางใจ โดยเฉพาะโรคกลัวอ้วน อาทิ โรคบูลิเมียและโรคอะนอแรกเซีย จะทำให้เกิดผลเสียอื่นๆ ต่อร่างกายตามมา

2. กลุ่มโรคติดเชื้อ เนื่องจากการรับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ มีโปรตีนในเลือดต่ำ ทำให้ร่างกายผลิตภูมิต้านทานน้อยลง ไม่พอที่จะต่อสู้กับเชื้อโรคต่างๆ

3. โรคกระดูกพรุนและภาวะกระดูกเปราะหักง่าย เนื่องจากน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ร่างกายสร้างเซลล์กระดูกเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับน้ำหนักตัว ขณะที่คนผอมเกินไป ทำให้ร่างกายมีการลงน้ำหนักตัวน้อย การสร้างเซลล์กระดูกจึงน้อยลงไปด้วย ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดภาวะกระดูกบางและพรุนตามมา และเสี่ยงกระดูกหักได้ในอนาคต


4. ประจำเดือนมาไม่ปกติ เนื่องจากฮอร์โมนในร่างกายทำงานไม่สมดุล อีกทั้งสมองยังทำงานหนักขึ้นอีกด้วย

 

รูปภาพจาก pixels

 

5. ผิวแห้งแตก กร้าน ไม่แข็งแรง เนื่องจากไม่ได้รับสารอาหารที่เพียงพอ

 

รูปภาพจาก pixels

 

How to Fit 3 Steps เพิ่มน้ำหนักตัว


Step1 ตั้งเป้าน้ำหนักที่ต้องการ โดยพิจารณาจากน้ำหนักปัจจุบัน เพื่อหาเป้าหมายว่าต้องเพิ่มน้ำหนักกี่กิโลกรัม เพื่อให้บีเอ็มไอได้มาตรฐานปกติ หรือมากกว่า 18.5 ขึ้นไป

 

Step2 กินอาหารเพิ่ม วันละ 500 กิโลแคลอรี

รูปภาพจาก pixels

 

คุณธิษณา จรรยาชัยเลิศ นักกำหนดอาหารวิชาชีพ แนะนำวิธีเพิ่มการกิน 2 สูตร ดังนี้

 

สูตรที่ 1 กินอาหารเพิ่มขึ้นในมื้อปกติ
กินอาหารวันละ 3 มื้อเช่นเดิม แต่เพิ่มปริมาณ อาทิ จากเคยกินอาหารวันละ 1,200 – 1,500 กิโลแคลอรี ก็เพิ่มปริมาณเป็น 1,700 – 2,000 กิโลแคลอรี โดยเพิ่มปริมาณอาหารทุกกลุ่ม ทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ และไขมัน ไม่เน้นกินกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

 

รูปภาพจาก pixels

 

สูตรที่ 2 เพิ่มมื้อว่าง
จากเดิมที่เคยกินเฉพาะอาหารหลัก 3 มื้อ ให้เพิ่มมื้อว่างเข้ามาอีก 2 –3 มื้อ แนะนำอาหารจำพวก ขนมปังเนยถั่ว ผลไม้สด หรือน้ำผลไม้คั้นสด เป็นต้น โดยคำณวนแคลอรีของมื้อว่างให้ได้ 500 กิโลแคลอรี

 

รูปภาพจาก pixels

 

Step3 ทำอย่างต่อเนื่อง

การเพิ่มปริมาณอาหารวันละ 500 กิโลแคลอรี เป็นปริมาณที่พอดีและสามารถทำได้ต่อเนื่อง เพราะโดยธรรมชาติของคนผอมจะกินอาหารได้ครั้งละไม่มาก การเพิ่มปริมาณอาหารที่มากกว่านี้อาจทำได้ไม่ต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเพิ่มน้ำหนักตัวได้สัปดาห์ละ ½ – 1 กิโลกรัม เมื่อได้น้ำหนักตามเป้าที่วางไว้จึงหยุดการเพิ่มปริมาณอาหาร

 

เห็นหรือยังคะว่า อ้วนไปก็ไม่ดี ผอมไปก็อันตราย ดังนั้นมารักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานจะดีที่สุด …พยายามเข้านะคะทุกคน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 419