Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

Amazing พิชิต 7 โรคร้ายด้วย เดินจงกรม

พูดถึง เดินจงกรม โดยทั่วไปเรามักจะนึกถึงประโยชน์ด้านจิตใจ 

เนื่องจากเป็นวิธีช่วยเจริญสติตามหลักของพุทธศาสนามาช้านาน แต่มีน้อยคนจะทราบว่าการ เดินจงกรมยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างน่าทึ่งที่สำคัญ เราพบว่า เดินจงกรม ช่วยแก้โรคยอดฮิตใน 7 กลุ่มโรค ซึ่งมีงานวิจัยพิสูจน์ในเชิงการแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว

“ยาดี” ที่ไม่ต้องเสียสตางค์ แถมยังปฏิบัติได้ง่ายๆ ด้วยตัวเองที่บ้านแบบนี้ แฟนๆ ชีวจิต ห้ามพลาดค่ะ

 

สุดยอดวิธีดูแลสุขภาพจากพระไตรปิฎก


พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงประโยชน์ของการ เดินจงกรม ไว้ 5 ข้อ และมี 2 ข้อเป็นประโยชน์ด้านสุขภาพ ดังที่ปรากฏในพระไตรปิฎก เล่มที่ 22 พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก - ฉักกนิบาต ในจังกมสูตร ซึ่งระบุไว้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการจงกรม 5 ประการนี้ 5 ประการเป็นไฉน คือ ภิกษุผู้เดินจงกรมย่อมเป็นผู้อดทนต่อการเดินทางไกล 1 ย่อมเป็นผู้อดทนต่อการบำเพ็ญเพียร 1 ย่อมเป็นผู้มีอาพาธน้อย 1 อาหารที่กิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้มแล้วย่อมย่อยไปโดยดี 1 สมาธิที่ได้เพราะการเดินจงกรมย่อมตั้งอยู่ได้นาน 1

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการ เดินจงกรม 5 ประการนี้แลฯ…”

ข้อความสำคัญคือ การมีอาพาธน้อย หมายถึง สุขภาพแข็งแรง ไม่ค่อยเจ็บป่วย โดยในปัจจุบันมีผลวิจัยทางการแพทย์พิสูจน์ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเดินจงกรมต่อสุขภาพโดยรวมว่า ช่วยฟื้นฟูระบบการทำงานของร่างกายและบรรเทาอาการของโรคเรื้อรังต่างๆ ได้อย่างดี

ทราบที่มาแล้ว ลองไปดูพร้อมๆ กันเลยว่า ประโยชน์ของการ เดินจงกรม เพื่อต้านโรคนั้นมีรายละเอียดอย่างไรบ้างค่ะ

 

ฟื้นฟูการเคลื่อนไหว ให้ผู้ป่วยระยะพักฟื้น

 


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชินภัทร์ จิระวรพงศ์ ภาควิชาออร์โธปิดิกส์และเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อธิบายว่า การ เดินจงกรม มีประโยชน์มากในกลุ่มผู้ป่วยที่ต้องนอนรักษาตัวนานๆ

ยกตัวอย่างเช่น ผู้ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ผู้ป่วยที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่ ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักฟื้นเป็นระยะเวลานานๆ และผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหว เช่น ยกแขนหรือขาไม่ค่อยได้ เนื่องจากผู้ป่วยในกลุ่มนี้มักมีปัญหากล้ามเนื้ออ่อนล้า (Fatigue)

“การเดินจงกรมเป็นประจำ ช่วยเพิ่มความแข็งแรงและสร้างความทนทาน (Endurance) ของกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อขา เข่า สะโพก ได้เป็นอย่างดี มีผลให้เวลาในการฝึกเดินของผู้ป่วยลดลงและได้ผลดีกว่าการฝึกเดินโดยไม่เสริมการเดินจงกรมร่วมด้วย

“ยกตัวอย่างผู้ป่วยอายุ 65 ปี มีอาการโรคข้อเข่าเสื่อมปานกลางทั้งสองข้าง เดินได้ระยะสั้น ๆ 5 - 10 ก้าว แต่ต้องมีผู้ช่วยประคองหากเดินเป็นระยะทางไกลกว่านั้น ต่อมาเมื่อเดินจงกรมร่วมด้วยทำให้อาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะสามารถเพิ่มระยะทางในการเดินมากขึ้นเรื่อยๆ ได้

“ในกรณีของผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาต เราพบว่า การฝึกเดินจงกรมช่วยจัดระเบียบท่าเดินให้เข้าสู่สภาวะปกติ ลดการบาดเจ็บจากท่าเดินที่ไม่เหมาะ เช่น เท้าแพลง นิ้วเท้าจิกจนทำให้เกิดแผล และป้องกันการหกล้มขณะเดินได้ดีขึ้น”
ตัวอย่างเช่น The European League Against Rheumatism (EULAR) ซึ่งเป็นการรวมตัวของแพทย์ผู้รักษาโรคข้อในยุโรป ได้รวบรวมงานวิจัยออกมาเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมว่า นอกจากการปรับอาหารและเสริมแคลเซียมแล้ว ควรจะเดินออกกำลังกายเป็นประจำด้วย

นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายต่อว่า

“ในแง่ของความปลอดภัยแล้ว จะพบว่า ผู้สูงอายุซึ่งร่างกายมีภาวะเสื่อมปรากฏขึ้นในจุดต่างๆ ค่อนข้างมาก ควรเลือกการเดินจงกรมแทนการวิ่ง หรือเดินออกกำลังกายตามปกติ เนื่องจากการเดินจงกรมต้องใช้การกำหนดสติควบคู่ไปด้วยจึงช่วยลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งจังหวะที่ก้าวก็ช้า ไม่ต้องออกแรงมาก จึงนับว่าเหมาะกับผู้สูงอายุที่สุด”

 

 

รับมือเด็กสมาธิสั้น พัฒนาการเรียนรู้

 


นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายเพิ่มเติมว่า ตนเองและทีมวิจัย พบว่า การ เดินจงกรม สามารถนำมาปรับใช้กับกลุ่มเด็กสมาธิสั้นให้มีผลการเรียนที่ดีได้อีกด้วย

“ตัวอย่างเช่น เด็กชายซึ่งเป็นโรคสมาธิสั้น อายุ 9 ปี มีปัญหาในการเข้าสังคม มักปลีกตัว ไม่ทำกิจกรรมกับเด็กคนอื่น เขียนตัวอักษรทั้งภาษาไทยและอังกฤษไม่ได้ และมีพฤติกรรมเรียกร้องความสนใจจากผู้ปกครองและครู

“ช่วงการเรียนหรือทำกิจกรรมในห้อง เด็กมักจะต่อต้าน แต่เมื่อนำกิจกรรมเดินจงกรมมาเสริมหลังเลิกเรียนหรือระหว่างทำกิจกรรมต่างๆ โดยระยะเวลาในการเดินที่เหมาะสมคือ 10 - 20 นาที พบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับนักบำบัดหรือครูดีขึ้น เรียนรู้ได้มากขึ้นมีความอดทนและร่าเริงแจ่มใส ทักษะในการเข้าสังคมดีขึ้นด้วย”

นายแพทย์ชินภัทร์อธิบายถึงกรณีศึกษานี้ว่า การเดินจงกรมเสมือนเป็นการให้รางวัลหลังทำกิจกรรมในห้องเรียนเสร็จ ช่วยให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย สร้างสมาธิและความอดทนได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สุดท้าย ควรให้เด็กฝึกเดินจงกรมร่วมกับบุคคลที่เด็กไว้ใจ หรือรู้สึกผ่อนคลาย จากนั้นหลังการฝึกแนะนำให้สอบถามถึงกิจกรรมในห้องเรียน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาด้านสังคม เพื่อให้ได้ข้อมูลซึ่งนำมาปรับปรุงวิธีการเรียน หรือทำกิจกรรมของเด็กได้ต่อไป หากทำเป็นประจำทุกวันจะให้ผลเร็วยิ่งขึ้น

 

บอกลาโรควิถีชีวิตยอดฮิต หัวใจ เบาหวาน ความดัน

 


ทีมวิจัยโดยแพทย์และพยาบาลจากโรงพยาบาลกันทรลักษ์ อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ ได้ศึกษา วิธีส่งเสริมสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ด้วยหลักการแพทย์แผนไทย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยมีวิธีการดังนี้

ศึกษาจากผู้ป่วยทั้งหมด 676 คน โดยมีกลุ่มทดลองจำนวน 291 คน ใช้การควบคุมอาหารควบคู่กับการออกกำลังกาย และมีการใช้หลักปฏิบัติตามแนวทางพุทธศาสนา คือ ถือศีล 5 และเดินจงกรม โดยแนะนำให้เดินบนพื้นกรวดแม่น้ำที่กลมมนเพียงวันละ 15 นาทีทุกวัน ส่วนผู้ป่วยที่เหลือให้ดำเนินชีวิตตามปกติ เมื่อทำการทดลองครบ 2 เดือน ผลปรากฏว่า กลุ่มผู้ป่วยซึ่งปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตโดยรวม ซึ่งหมายถึงร่างกาย จิตใจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดีกว่าช่วงก่อนการทดลอง และดีกว่ากลุ่มที่ไม่ได้ปฏิบัติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

ผลวิจัยนี้สัมพันธ์กับงานวิจัยของ แพทย์หญิงดวงรัตน์ ชลศฤงคาร อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลราชบุรี ซึ่งศึกษา ผลเฉียบพลันของการเดินจงกรมต่อระดับความดันโลหิตในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง พบว่า การเดินจงกรมลดระดับความดันโลหิตได้ไม่แตกต่างจากการนั่งพัก แต่สามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับการนั่งพัก

รองศาสตราจารย์ ดร.สมพร กันทรดุษฎี เตรียมชัยศรี ภาควิชาการพยาบาลสาธารณสุข คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การเดินจงกรมอย่างต่อเนื่องทำให้จิตเป็นสมาธิ คลื่นสมองทำงานช้าลง และมีการหลั่งสารสื่อประสาทซึ่งช่วยยับยั้งการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติซิมพาเทติก (Sympathetic Nervous System) และกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติพาราซิมพาเทติก (Parasympathetic Nervous System) ลดการสลายไกลโคเจนจากตับ จึงลดระดับน้ำตาลในเลือดลงได้

นอกจากนี้ การเดินจงกรมยังช่วยลดระดับความดันโลหิตและอัตราการเต้นของหัวใจ เนื่องจากการเดินจงกรมสร้างความสงบและลดเครียดอย่างได้ผล โดยไปกระตุ้นให้ร่างกายลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) พูดง่ายๆ ว่า การเดินจงกรมช่วยลดทั้งระดับน้ำตาลในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจได้ หากปฏิบัติเป็นประจำก็จะช่วยบอกลาโรควิถีชีวิตหรือ NCDs (Non-communicable Diseases) อย่างเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมถึงโรคหัวใจ ไปได้เลย

 

ฟื้นฟูระบบย่อยและระบบขับถ่าย ลดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อน

 


ปกติการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายนอกจากจะมีการบีบตัวของอวัยวะภายในแล้ว จำเป็นต้องอาศัยแรงโน้มถ่วงโลก ในท่าที่ร่างกายตั้งตรง เพื่อเสริมกลไกการบีบไล่อาหารและลำเลียงปัสสาวะจากกรวยไตสู่กระเพาะปัสสาวะร่วมด้วย

หากต้องการให้ผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดอวัยวะในระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายฟื้นตัวเร็วขึ้น มีการขับถ่ายได้ตามปกติ จึงจำเป็นต้องเสริมการเดินช้า ๆ เพื่อช่วยกระตุ้นให้อวัยวะภายในของระบบนั้น ๆ กลับมาทำงานอีกครั้ง

แพทย์หญิงชีลา พาเทล (Sheila Patel, MD) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ครอบครัวและการแพทย์องค์รวมแบบอายุรเวทแห่ง Copra Center สถาบันสุขภาพองค์รวมชื่อดังในประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่า

องค์ความรู้ด้านอายุรเวทเชื่อว่า การเดินจงกรม ช่วยเสริมการทำงานของธาตุไฟในร่างกาย ฟื้นฟูการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่ายได้ และกระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายในช่องท้อง

 

 

ส่วนผลทางจิตใจก็ช่วยลดความเครียด

 

 

ทำให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงกระเพาะอาหารและลำไส้ตามปกติ จึงย่อยอาหารได้ดี ลดปัญหาการเกิดแก๊สในกระเพาะอาหารและภาวะกรดเกิน ซึ่งทำให้รู้สึกแน่นและปวดท้อง

งานวิจัยของ ดร. นายแพทย์มาร์คัส คารีย์ (Dr. Marcus Carey, MD) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมทางเดินปัสสาวะและนรีแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น และคณะ ระบุว่า การเดินช้าๆ เป็นการออกกำลังกายหลังผ่าตัดที่ช่วยลดภาวะแทรกซ้อนในระบบทางเดินอาหารและระบบขับถ่าย ลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นในโรงพยาบาลได้

ข้อมูลในตำราการทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วยโดย ศาสตราจารย์นายแพทย์วอลเตอร์ ฟรอนเทอรารัวรา (Professor Walter Frontera-Roura, MD) คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเปอร์โตริโกเครือรัฐเปอร์โตริโก ระบุว่า

การเดินหลังการผ่าตัดระบบย่อยอาหารช่วยลดภาวะปวด อืด แน่นท้อง ลำไส้บีบตัวช้า ปัสสาวะไม่ออก นิ่ว และภาวะติดเชื้อในระบบปัสสาวะได้เป็นอย่างดี เมื่อเสริมโปรแกรมการเดินให้กลุ่มผู้ป่วยดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยขับถ่ายได้สะดวกยิ่งขึ้น ช่วยให้ความอยากอาหารกลับมาเป็นปกติ จึงเป็นผลให้สุขภาพโดยรวมสามารถฟื้นฟูได้เร็วขึ้นตามไปด้วย

จะเห็นได้ว่า หากนำการเดินช้าๆ มาปรับเป็นการเดินจงกรม ผู้ป่วยจะสามารถฟื้นฟูร่างกายและจิตใจไปพร้อมๆ กันได้ เรียกว่ายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวค่ะ
ฝึกใจให้อดทน ช่วยลดซึมเศร้า
นายแพทย์วอลเตอร์ระบุไว้ในตำราการทำกายภาพบำบัดให้ผู้ป่วย DeLisa’s Physical Medicine and Rehabilitation ว่า ในการฟื้นฟูสุขภาพหลังจากการรักษาอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง นอกจากความแข็งแรงของร่างกายภายนอกแล้ว จำเป็นต้องฟื้นฟูจิตใจด้วย

“ระหว่างการรักษา เราพบเสมอว่า ผู้ป่วยที่ต้องนอนพักฟื้นบนเตียงนานๆ มักขาดความอดทนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เป็นระยะเวลานานๆ ทั้งที่ไม่ได้มีปัญหาด้านสมอง การเรียนรู้ หรือสูญเสียความทรงจำ หลายรายรู้สึกอึดอัดในการกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ ส่งผลให้เกิดโรควิตกกังวล (Anxiety Disorder) หรือซึมเศร้า (Depression)

“กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ในผู้ป่วยอัมพฤกษ์อัมพาตแขนขาร่วมกับภาวะอ่อนล้า (Hemiparesis with Central Fatigue) ซึ่งต้องฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจร่วมกัน ในโปรแกรมฟื้นฟูจะมีทั้งการทำกายภาพบำบัดกิจกรรมศิลปะบำบัด กิจกรรมนันทนาการต่างๆ รวมถึงการเดินจงกรมด้วย

“จากประสบการณ์เราพบว่า เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ การเดินช้า ๆโดยฝึกเจริญสติ (เดินจงกรม) ไปด้วยเป็นกิจกรรมที่ทำได้ง่าย ประหยัดทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ในการใช้งาน เพียงให้ผู้ป่วยเดินจงกรมอย่างสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 20 - 45 นาที จะช่วยลดความเครียดและภาวะซึมเศร้าได้อย่างดี”

 

ทางลัดฟื้นฟูกายและใจ จากภาวะพีทีเอสดี

 


ประโยชน์ประการสุดท้ายที่น่าสนใจมากในการเดินจงกรม คือ เป็นโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพทั้งกายและใจที่ให้ผลดีกับผู้ที่มีภาวะเครียดภายหลังประสบภัย (Posttraumatic Stress Disorder หรือ PTSD – พีทีเอสดี) มักเป็นหลังพบสถานการณ์สะเทือนใจ พบว่าร้อยละ 15 - 40 ของผู้ประสบภัยตกอยู่ในภาวะนี้ ซึ่งต่างจากภาวะเครียดฉับพลัน (Acute Stress Reaction) ซึ่งมักสิ้นสุดลงภายใน 1 เดือนหลังประสบเหตุ

ตัวอย่างอาการจากภาวะพีทีเอสดีเริ่มจากผู้ป่วยจะเงียบเฉย ขาดการตอบสนอง สับสนไม่แจ่มใสร่าเริงเหมือนเดิม ต่อมาจะกังวลแม้แต่เรื่องเล็กน้อย ตกใจง่ายจากเสียงดัง ขาดสมาธิคิดวนเวียนเรื่องที่วิตกกังวลซ้ำๆ คิดถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำๆ จนพัฒนาเป็นรู้สึกตกใจขึ้นมาเหมือนตัวเองยังอยู่ในเหตุการณ์นั้น หากมีสิ่งเร้าเพียงเล็กน้อย เช่น ได้ยินเสียงคลื่น เสียงน้ำ เสียงคนร้องตะโกนดังๆ ก็จะรู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์อีก (Flashback) และตกใจกลัวอย่างรุนแรง เกิดอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เหงื่อออกมาก จนมีปัญหาไม่สามารถเรียนหรือทำงานตามปกติได้

ดร. นายแพทย์แรนดัลล์ แอล. แบรดดอม (Dr. Randall L. Braddom, MD) จิตแพทย์ประจำศูนย์การแพทย์ Malcom Randall Veterans Affairs Medical Center สังกัดกระทรวงทหารผ่านศึก ประเทศสหรัฐอเมริกา อธิบายว่าการเสริมกิจกรรมเดินจงกรมให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้ช่วยสร้างความสงบในใจได้ต่อเนื่อง ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดการกินยาและการทำกิจกรรมบำบัดอื่น ๆ ได้ ควรเลือกเดินในสถานที่สงบ ร่มรื่น เช่น สวนสาธารณะ เพราะจะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายลดความอ่อนล้าทั้งทางกล้ามเนื้อและจิตใจได้ดี
นายแพทย์แรนดัลล์ระบุว่า วิธีนี้เหมาะกับผู้ป่วยภาวะพีทีเอสดีซึ่งประสบความบอบช้ำทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ผู้ที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง ผู้ประสบภัยธรรมชาติ และเจ้าหน้าที่รัฐอย่างทหาร ตำรวจ ที่ผ่านภารกิจหนักนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ช่วยให้บุคคลเหล่านั้นสามารถกลับสู่สภาวะปกติได้เร็วขึ้น

 

รวมเกร็ดเดินจงกรมทั้งได้ผลและปลอดภัยเพื่อผู้ป่วย


เรื่องระยะเวลาที่ใช้ในการฝึกเดินจงกรมนั้นควรพิจารณาจากสภาพร่างกายของผู้ป่วยเป็นหลัก โดยให้เริ่มจากน้อยไปหามาก จากนั้นค่อยปรับให้ได้ระยะเวลาที่เหมาะสมกับแต่ละคนต่อไป

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์สมเกียรติ แสงวัฒนาโรจน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า

ในกรณีที่มีสุขภาพแข็งแรงอยู่แล้ว ประชาชนทุกเพศทุกวัยสามารถเลือกการเดินเป็นการออกกำลังกายประจำวัน เพราะประหยัดและปลอดภัยโดยแนะนำให้เดินวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 - 4 วัน

ในกรณีที่มีปัญหาสุขภาพ แนะนำให้เลือกการเดินจงกรมซึ่งมีจังหวะการเดินที่ช้ากว่า ช่วยให้ฝ่าเท้า ข้อเท้า เข่า รับแรงกระแทกน้อยกว่าอย่างน้อยเริ่มตั้งแต่ 15 – 45 นาทีติดต่อกัน

 

ข้อแนะนำเรื่องเวลาในการฝึกเดินจงกรม มีดังนี้

 เลือกเดินจงกรมในเวลาที่สะดวกและจิตใจปลอดโปร่ง หากเป็นไปได้ควรเดินจงกรมในเวลาเช้าตรู่ เพราะให้ประโยชน์ต่อการฝึกสมาธิ ช่วยให้มีสติรู้กำกับไปตลอดทั้งวันได้

 


 หากไม่สะดวกก็สามารถเลือกเดินจงกรมในเวลาเย็นหรือก่อนเข้านอนก็ได้เช่นกัน โดยจะส่งผลให้ตัดความกังวล นอนหลับได้ดี ตื่นมาแล้วรู้สึกสดชื่น

 


 หากต้องการให้ได้ผลต่อการฝึกสติ ควรมีการสวดมนต์หรือทำวัตรร่วมด้วย โดยเดินจงกรมก่อนแล้วจึงทำวัตรในช่วงเช้า และเดินจงกรมอีกครั้งหลังเวลาทำวัตรในช่วงเย็น หัวใจสำคัญคือ ต้องการให้ฝึกปฏิบัติอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกวันนั่นเอง
สุดท้าย ควรเลือกพื้นที่ซึ่งเอื้อต่อการเดินจงกรมด้วย โดยจะต้องเป็นพื้นที่ซึ่งสงบ สะอาด อากาศถ่ายเท มีแสงสว่างเพียงพอ มีพื้นราบไม่ลาดชัน ไม่ลื่นหรือขรุขระจนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุขณะเดิน

 

 

ไม่น่าเชื่อว่า การเดินจงกรม แนวทางปฏิบัติภาวนา ซึ่งพระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ผ่านกาลเวลามาร่วมสองพันห้าร้อยปีนั้น จะให้ผลลัพธ์ด้านสุขภาพได้ครบถ้วนเช่นนี้ นับเป็น “ยาขนานเอก” ที่มีประสิทธิภาพในการฟื้นฟูและเยียวยาโรคสำคัญ ๆ เกือบทุกระบบเลยทีเดียว

รับรองว่า ถ้าคุณมี ชีวจิต เป็นเพื่อนใกล้ตัวอยู่เสมอ จะได้ค้นพบความรู้ใหม่ๆ เช่นนี้เป็นประจำทุกปักษ์ ไม่มีวันตกเทรนด์สุขภาพแน่นอนค่ะ

 

 

2 วิธีเดินจงกรมเพื่อสุขภาพกายใจ


โดยทั่วไป การเดินจงกรมแบ่งเป็น 2 แบบหลักๆ ดังนี้

 

การเดินแบบก้าวย่าง 


เน้นการฝึกให้สติอยู่กับจังหวะการก้าว มักมีการภาวนากำกับ เช่น เมื่อยกเท้าให้ภาวนาว่า “ยกหนอ” เมื่อย่างเท้าพ้นจากพื้นให้ภาวนาว่า “ย่างหนอ” เมื่อเท้าจะเหยียบลงบนพื้นให้ภาวนาว่า “เหยียบหนอ” เหมาะกับผู้ที่มีจริตละเอียด ชอบนึกคิด อยากรู้อยากเห็น

 

การเดินในอิริยาบถปกติ 


เป็นการเดินตามจังหวะธรรมดาโดยไม่ต้องภาวนาในทุก ๆ จังหวะการเคลื่อนไหวอย่างแบบแรก เพียงแค่กำหนดรู้ซ้ายและขวา เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการปฏิบัติแบบเรียบง่าย ไม่เน้นพิธีรีตอง

ส่วนรายละเอียดในการภาวนา ท่าเดิน และการวางมือจะแตกต่างกันไปในแต่ละสายการปฏิบัติหรือสำนักต่างๆ โดยทั่วไปแนะนำให้เดินตัวตรง ทอดสายตาไปที่พื้นเบื้องหน้าหรือจะมองตรงก็ได้ มักให้เดินด้วยความสำรวม ไม่ส่งเสียงดังเพราะต้องการให้ผู้ที่เดินจงกรมเกิดสมาธิขณะเดิน

 

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 378

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate