รู้หรือไม่ เด็กและวัยรุ่นก็เป็น ผู้ป่วยเบาหวาน ได้

รู้หรือไม่ เด็กและวัยรุ่นก็เป็น ผู้ป่วยเบาหวาน ได้

เด็กและวัยรุ่น ป่วยเบาหวานได้จริงหรือ

วันนี้เรามาว่ากันด้วยเรื่องโรคเบาหวานเช่นเคยค่ะ หลายคนคงคุ้นเคยกันว่าเป็นโรคของคนสูงอายุ เป็นโรคเรื้อรังที่จะเกิดขึ้นเมื่ออายุเริ่มมาก เราอยากให้ทำความเข้าใจเสียใหม่ค่ะ เพราะเด็กและวัยรุ่น ก็สามารถเป็น ผู้ป่วยเบาหวาน ได้ โดยเราจะหยิบยกบทความสุขภาพจาก คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โดย ศ.พญ.ไพรัลยา นาควัชระ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ มาให้อ่านกันค่ะ

 

อาการที่ไม่อาจมองข้าม

“เคยไหมกินจุแต่กลับผอมลง ปวดปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำบ่อยและมีภาวะขาดน้ำ? …

ที่เป็นเช่นนี้เพราะร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง โดยปกติเวลาเรารับประทานอาหารเข้าไป สารอาหารจะถูกเปลี่ยนเป็นน้ำตาลและร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้ให้เกิดพลังงาน โดยการนำเข้าไปในเซลล์หรือหน่วยเล็ก ๆ ของร่างกายเพื่อเอาไปเผาผลาญ สารเคมีหรือฮอร์โมนที่ทำหน้าที่เอาน้ำตาลเข้าเซลล์ คือ ฮอร์โมนอินสูลิน (Insulin) ที่สร้างและหลั่งมาจากตับอ่อน ในผู้ป่วยเบาหวาน เมื่อรับประทานอาหารเข้าไปร่างกายจะไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้ เนื่องจากร่างกายขาดอินซูลินหรืออินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี จึงเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง และผลที่ตามมาคือ “โรคเบาหวาน” กล่าวคือ ผู้ป่วยจะปัสสาวะบ่อย มีน้ำตาลออกมาในปัสสาวะ และหากมีอาการรุนแรง ร่างกายจะสลายไขมันมาใช้เป็นพลังงานแทนน้ำตาล สารที่ได้เรียกว่า “กรดคีโตน” ทำให้มีอาการหายใจหอบลึก

 

โรคเบาหวานกับวัยรุ่นและเด็ก

รู้มั้ย ?…“เบาหวานไม่ได้เป็นโรคที่เกิดกับผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กและวัยรุ่นก็เป็นเบาหวานได้”

 

ชนิดของเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น

จริง ๆ แล้วมีชนิดย่อยหลายชนิด แต่ในที่นี้จะกล่าวถึง 2 ชนิดหลัก คือ

1. เบาหวานชนิดที่ 1 (Type 1 DM)

เกิดจากการที่ร่างกายมีปฏิกิริยาต่อต้านเซลล์ของตับอ่อนที่ทำหน้าที่ผลิตอินสูลิน ทำให้ไม่สามารถผลิตอินสูลินได้ (ร่างกายขาดอินสูลิน) เด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 1 นี้ มักมีอายุน้อยกว่า 10 ปี แต่ในวัยรุ่นก็พบได้เช่นกัน ผู้ป่วยมักจะมีอาการน้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ บางรายรุนแรงมีกรดคั่งในเลือด

สาเหตุที่ตับอ่อนถูกทำลายยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางการแพทย์คาดว่าเกิดจากปัจจัยทางกรรมพันธุ์ การติดเชื้อบางอย่างเป็นตัวกระตุ้น รักษาโดยการฉีดฮอร์โมนอินสูลินเข้าผิวหนัง ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาด และยังไม่พบวิธีที่จะป้องกัน แพทย์และนักวิจัยกำลังพยายามหาวิธีป้องกันในเด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่มีพี่น้องป่วยเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 และวิธีการรักษาโดยการปลูกถ่ายเซลล์ตับอ่อน ซึ่งยังต้องติดตามผลการวิจัยต่อไป

 

2. เบาหวานชนิดที่ 2 (Type 2 DM)

การเพิ่มจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับการเพิ่มของอุบัติการณ์โรคอ้วนในเด็ก ซึ่งมีสาเหตุจากการรับประทานอาหารที่มีแป้งและน้ำตาลมากเกินไป และขาดการออกกำลังกาย เด็กที่เสี่ยงต่อการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2 คือ เด็กอ้วนและกำลังเข้าสู่วัยรุ่น แต่ก็สามารถพบได้ในเด็กอายุน้อยกว่า 10 ปี เช่นกัน

เด็กอ้วนจะมีเซลล์ไขมันจำนวนมาก เซลล์ไขมันเหล่านี้จะปล่อยสารต่าง ๆ เช่น กรดไขมันออกมาทำให้ร่างกายดื้อต่ออินสูลิน หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า “อินสูลินที่มีอยู่ไม่สามารถออกฤทธิ์นำน้ำตาลเข้าเซลล์ไปใช้ให้เกิดพลังงานได้ตามปกติ” ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือเป็น “โรคเบาหวาน” นั่นเอง

โดยทั่วไปผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 มักจะมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการใด ๆ ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรงเท่ากับเบาหวานชนิดที่ 1 ทำให้อาจตรวจพบล่าช้า

 

 

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดเบาหวานชนิดที่ 2

– มีสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2

– มีภาวะโภชนาการเกินหรือโรคอ้วน

– คนเชื้อชาติเอเชีย

– มีปื้นดำหนา ๆ ที่คอ เรียกว่า อะแคนโทสิส (Acanthosis negrican)

 

การป้องกันเบาหวาน

– เบาหวานชนิดที่ 1 ขณะนี้ยังไม่มีวิธีป้องกัน

– เบาหวานชนิดที่ 2 พยายามให้เด็กรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผัก ผลไม้

 

 

ลดอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไก่ทอด นมเปรี้ยว น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง, ขนมถุงกรุบกรอบ

 

 

และควรส่งเสริมให้เด็กออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อยวันละ 30 นาที เป็นเวลา 3 วันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กอ้วน

 

 

เมื่อใดควรมาพบแพทย์

1. ถ้ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นเบาหวาน

• ปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ

• กินจุ ผอมลง

• ปัสสาวะมีมดตอม

• เป็นแผลหายช้า

• ติดเชื้อที่ผิวหนัง

 

2. ถ้าเด็กหรือวัยรุ่นอ้วน และมีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นเบาหวาน

 

3. มีปื้นดำที่คอ

ผู้ปกครองควรหมั่นดูแลบุตรหลานว่ามีอาการ 1 ใน 3 ข้อนี้หรือไม่ ถ้าพบควรพาเด็กมาพบกุมารแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ

 

 

วิธีการตรวจหาเบาหวาน

ตรวจจากเลือด ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (อย่างน้อย 8 ชั่วโมง) มากกว่า หรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ถือว่าเป็น “เบาหวาน” หรือถ้าระดับน้ำตาลหลังอาหาร หรือ หลังกินน้ำตาล (ตามแพทย์สั่ง) เป็นเวลา 2 ชม. มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ก็ถือว่าเป็นเบาหวานเช่นกัน

 

 

ลองสังเกตดูนะคะว่าบุตรหลานของท่านมีปัจจัยเสี่ยง หรืออาการที่เข้าได้กับเบาหวานหรือไม่ ถ้ามีควรมารับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางไต ตา และหลอดเลือดในอนาคตค่ะ

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate