วิธีตัดวงจรโรคแทรกซ้อน เพื่อคน เบาหวาน สุขภาพเลิศ

วิธีตัดวงจรโรคแทรกซ้อน เพื่อคน เบาหวาน สุขภาพเลิศ

เบาหวาน หรือ น้ำตาลในเลือดสูง เป็นอาการที่ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักละเลย 

โดยหารู้ไม่ว่า โรคดังกล่าวจะค่อยๆ กัดกร่อนร่างกายทีละน้อย กว่าจะไหวตัวทันก็เกิดโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะอย่างตา สมอง หัวใจ ไต และขาเสียแล้วใครที่คิดว่าโรค เบาหวาน ไม่ร้ายแรง คงต้องเปลี่ยนความคิดใหม่เสียแล้วละค่ะ

 

คุมน้ำตาลไม่ได้ อันตรายจากโรคแทรกซ้อน

การปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเป็นเวลานานส่งผลเสียอย่างไรอาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต กล่าวไว้ในบทความ การแพทย์ทางเลือก - การแพทย์ผสมผสาน ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2548 ว่า

“เบาหวาน เป็นโรคที่ไม่มีเชื้อโรค เกิดจากพฤติกรรมการกินที่ผิด เราสามารถป้องกันและรักษาตัวเองด้วยวิธีปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยเฉพาะการกิน ในขณะที่แพทย์แผนปัจจุบันจะให้กินยาซึ่งต้องกินไปตลอดชีวิต เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ วิธีนี้ไม่ใช่การรักษา แต่เป็นเพียงการคุมอาการไม่ให้แย่ลง (ระดับน้ำตาลในเลือดสูง) กว่าเดิม”

หลายคนเข้าใจผิด คิดว่ากินยาแล้วก็สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ จึงกินตามใจปาก ความคิดเช่นนี้คือหลุมพรางขนาดใหญ่ เพราะการกินยาเป็นเวลานานย่อมมีผลข้างเคียง โดยยาลดระดับน้ำตาลในเลือดมีผลต่อระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบประสาท เกิดอาการแพ้ทางผิวหนัง ทำให้ปวดศีรษะ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ

แม้จะกินยาเป็นประจำ แต่ไม่ปรับอาหารการกินเลย ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงโรคเบาหวานจะค่อยๆ บ่อนทำลายร่างกายไปทีละน้อย และในที่สุดจะเกิดโรคแทรกซ้อนตามมา

 

 

น้ำตาล วายร้ายทำลายอวัยวะ

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต ได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างน้ำตาลกับอวัยวะต่างๆ ว่า

“การกินของรสหวานจำพวกขนมหวานหรือเครื่องดื่มต่างๆ เป็นการป้อนน้ำตาลเลวหรือน้ำตาลซูโครส (Sucrose) เข้าไปในร่างกาย ซึ่งเมื่อเข้าไปแล้ว น้ำตาลนี้จะถูกเปลี่ยนเป็นกลุ่มโปรตีนที่เรียกว่าไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) เมื่อไกลโคโปรตีนไปผสมกับกรดแอมิโน จะทำให้กลายเป็นท็อกซิน (Toxin) หากไปเกาะอยู่ตามอวัยวะส่วนใดในร่างกายก็ตาม เช่น เกาะที่ตับจะทำให้อวัยวะนั้นอ่อนแอลงและทำงานไม่ได้ ปกติตับมีหน้าที่รับอินซูลินจากตับอ่อน เพื่อเปลี่ยนน้ำตาลในเลือดให้เป็นไกลโคเจน ซึ่งมีหน้าที่ปรับระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่อยู่ตลอดเวลา เมื่อตับทำงานไม่ได้ ก็ส่งผลให้อินซูลินทำงานได้น้อยลง จึงเกิดภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งส่งผลให้น้ำตาลยังคงอยู่ในเลือดและสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนป่วยเป็นเบาหวานนั่นเอง”
โรคแทรกซ้อนจาก เบาหวาน ที่จะกล่าวถึงนี้ ผู้เขียนขอแบ่งตามตำแหน่งของอวัยวะในร่างกาย เป็นโรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนบน ส่วนกลาง และส่วนล่างของร่างกาย ดังนี้
โรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนบน
สำหรับโรคแทรกซ้อนของอวัยวะส่วนบนในร่างกายนั้น จะขอเล่าถึงโรคที่เกิดกับดวงตาและสมองนะครับ

 

 

เบาหวาน วายร้ายทำตาบอด

ข้อมูลจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอธิบายว่า

“โรคเบาหวานขึ้นจอตา (Diabetic Retinopathy, DR) เป็นสาเหตุสำคัญของการสูญเสียการมองเห็นเป็นอันดับ 2 รองจากโรคต้อกระจก และผู้ป่วย เบาหวาน มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้สูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และอาจเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ตามระยะเวลาที่ป่วยเป็นเบาหวาน”

หลายคนอาจสงสัยว่า เหตุใดระดับน้ำตาลในเลือดและดวงตามีความสัมพันธ์กันเช่นนี้

ศูนย์จอตา ภาควิชาจักษุวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลให้ข้อมูลว่า

“หากปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าเกณฑ์ปกติแม้เพียงเล็กน้อยเป็นเวลานาน จะส่งผลให้ผนังหลอดเลือดฝอยทั่วร่างกายเสื่อมโดยเฉพาะหลอดเลือดฝอยภายในจอตา ซึ่งจะทำให้ของเหลว เลือดและไขมันภายในจอตารั่วซึมออกมา เกิดเป็นภาวะเบาหวานขึ้นจอตาโดยเบื้องต้นจะทำให้จอตาบวมและเริ่มมองเห็นไม่ชัด นานวันเข้าจะเกิดการอุดตันของหลอดเลือด เกิดภาวะจอตาขาดเลือด นำไปสู่การสร้างหลอดเลือดฝอยใหม่ (Neovascularization) ซึ่งมีลักษณะเปราะและแตกง่าย เพิ่มโอกาสให้หลอดเลือดแตกซ้ำ ทำให้เลือดออกบดบังจอตาเพิ่ม และเกิดพังผืดดึงรั้งจอตาจนเกิดการฉีกขาดและจอตาหลุดลอก ภาพที่เห็นจึงมัวยิ่งขึ้น

“ทั้งนี้อาการตามัวยังอาจเกิดจากการบวมบริเวณจุดภาพชัด (Macular Edema) ซึ่งเป็นบริเวณสำคัญใช้ในการมองภาพ จึงส่งผลต่อการมองเห็นอย่างมาก และอาจทำให้หลอดเลือดบริเวณจุดภาพชัดอุดตันในเวลาต่อมา ส่งผลให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (Macular Ischemia) จนผู้ป่วยสูญเสียการมองเห็นในที่สุด”

 

Check Now!! ตรวจเช็กดวงตาก่อนสายเกิน

เห็นไหมว่า เพียงแค่ปล่อยให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงก็ทำให้ตาบอดได้ ดังนั้น เราควรเช็กสุขภาพตาเพื่อลดความเสี่ยง เบาหวานขึ้นจอตากันตั้งแต่เนิ่น ๆ ตามวิธีที่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง

พวงทอง ไกรพิบูลย์ ได้แนะนำในหนังสือ โรคของดวงตา สำนักพิมพ์อมรินทร์สุขภาพ ดังนี้

– เริ่มตามัว มองเห็นภาพไม่ชัด เห็นภาพแคบลง

– เห็นภาพเป็นวง เห็นแสงวาบ

– อ่านหนังสือลำบาก

– มีจุดดำลอยไปมาในลูกตาเป็นจำนวนมาก

– มีอาการปวดตาเกิน 1 – 2 วัน

หากพบอาการดังกล่าวควรรีบพบจักษุแพทย์ทันที และผู้ป่วยเบาหวานควรเข้ารับการตรวจจอตาทุกๆ 6 เดือน เพื่อจะได้รักษาโรคเบาหวานขึ้นจอตาอย่างทันท่วงที

 

ตัดวงจรสโตรก เพชฌฆาตเงียบปลิดชีวิต

โรคหลอดเลือดสมองตีบ / แตก หรือสโตรก (Stroke) เป็นหนึ่งในโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานที่อันตราย ซึ่งถูกขนานนามจากกระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเป็น “Silent Killer” หรือเพชฌฆาตเงียบ เหตุที่ถูกเรียกเช่นนี้เพราะผู้ป่วยจะมีอาการเฉียบพลัน ไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้กล่าวในบทความ อัมพาต – อัมพฤกษ์ ชื่อเพราะดี แต่หน้าตาน่ากลัว ในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐฉบับวันที่ 3 และ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2549 ว่า

“สโตรก (Stroke) เป็นอาการผิดปกติที่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ ซึ่งมี 2 สาเหตุ คือ เส้นเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) และเส้นเลือดในสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ส่งผลให้สมองขาดเลือดเฉียบพลัน และเกิดอาการพิการหรือเสียชีวิตได้ทันที”
ทั้งนี้สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดเส้นเลือดสมองตีบและเส้นเลือดในสมองแตก คือ

ระดับน้ำตาลในเลือดสูง เมื่อมีน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลให้เส้นเลือดฝอยบริเวณสมองเสื่อม ขาดความยืดหยุ่นจึงเปราะแตกง่าย ขณะเดียวกันจะทำให้เลือดข้นเหนียว อาจเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดสมอง ทำให้สมองขาดเลือดได้
ระดับไขมันในเลือดหรือคอเลสเตอรอลสูง เพราะผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ยังคงกินผิด (ชอบกินแต่ของหวานและมัน) จึงมักเกิดโรคร่วมตามมา คือ ภาวะไขมันในเลือดสูง (มากกว่า 200มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตรขึ้นไป) โดยไขมันและแคลเซียมจะไปเกาะรวมกันแน่นที่ผนังเส้นเลือดเกิดเป็นคราบเหนียวหรือพลัค (Plaque) นานวันเข้า พลัคจะหนาขึ้น ทำให้เส้นเลือดแคบลง เกิดภาวะผนังเส้นเลือดสมองแข็ง(Atherosclerosis) และเส้นเลือดสมองอุดตัน ไม่ต่างจากการเกิดสนิมของท่อประปาเหล็กที่ถูกใช้งานมานาน หากปล่อยทิ้งไว้ต่อไป สนิมจะจับตัวหนาเกรอะ การขนส่ง “น้ำ” ก็ไม่คล่อง และผ่านท่อไม่ได้ในที่สุด
ความดันโลหิตสูง เป็นโรคคู่หูของเบาหวาน  โดยความดันโลหิตสูง (มากกว่า 140 / 90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป) จะทำให้เส้นเลือดสมองบางส่วนโป่งพองออกมา (Aneurysm) และจุดที่โป่งนั้นมีความเปราะบางสูง จึงแตกง่าย และเลือดจากรอยแตกก็จะไหลไปกดทับเซลล์สมอง ทำให้สมองส่วนนั้นตาย
เมื่อสมองตายหรือขาดเลือดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งนี้ จะทำให้ผู้ป่วยกลายเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเสียชีวิตนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ อาจารย์สาทิสจึงย้ำนักย้ำหนาว่า ให้ป้องกันโรคเบาหวานและสโตรกด้วยการปรับเปลี่ยนอาหาร ลด ละ เลิกน้ำตาล แป้งขัดขาว ขนมหวาน อาหารมัน ๆ ทั้งปวง และให้เลิกสูบบุหรี่ เลิกดื่มเหล้า เพราะเหล้าและบุหรี่ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเร่งให้เกิดพลัคด้วย

 

อาหารลดความเสี่ยงสโตรก

นอกจากงดอาหารที่เพิ่มความเสี่ยงการเป็นสโตรกแล้ว เรายังสามารถตัดวงจรการเกิดโรคสโตรกซึ่งเป็นโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานได้ ด้วยการเลือกกินอาหารที่มีส่วนช่วยลดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดดังนี้

ปลา ให้กินสัปดาห์ละ 2 มื้อ โดยเฉพาะปลาสวายเพราะมีปริมาณกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยออริกอน ระบุว่า กรดไขมันโอเมก้า 3 มีส่วนประกอบของกรดไขมันอีพีเอที่มีส่วนช่วยในการลดระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ทำให้เลือดแข็งตัวช้าลง และลดการเกาะตัวของไขมันที่ผนังหลอดเลือดในสมอง จึงลดความเสี่ยงโรคสโตรกได้


กระเทียมสด ให้กินอย่างน้อยวันละ 7 – 12 กลีบเนื่องจากมีสารเอส - อัลลิลซีสเทอีน (Sallylcysteine) ที่ช่วยกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนอินซูลินจากตับอ่อน จึงช่วยเพิ่มความสามารถ ในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนี้กระเทียมยังช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายด้วย

 


ผักใบเขียว ข้อมูลจากโรงพยาบาลลำปางพบว่าหากกินผักใบเขียวอย่างน้อยวันละ 5 ฝ่ามือ จะช่วยลด
โอกาสการเป็นเบาหวานได้ถึง 14 เปอร์เซ็นต์ เพราะในผักใบเขียวเต็มไปด้วยสารแอนติออกซิแดนต์อย่างเบต้าแคโรทีน ซึ่งช่วยในการลดระดับน้ำตาลในเลือด อีกทั้งสามารถยับยั้งคอเลสเตอรอลไม่ให้รวมตัวกันเป็นพลัคไปเกาะผนังหลอดเลือดจนทำให้เกิดโรคสโตรก เพราะฉะนั้นลองหันมากินอาหารเหล่านี้มากๆ กันดีกว่า

 

 


โรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนกลาง

สำหรับโรคแทรกซ้อนถัดมาคือ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะช่วงกลางลำตัวซึ่งเบาหวานจะส่งผลต่อหัวใจและไต ดังนี้

 

หยุดเบาหวาน สลายหลอดเลือดหัวใจตีบ

 


ทราบหรือไม่ว่า โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของประชากรทั่วโลกและของผู้ป่วยเบาหวาน

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์องอาจ วิพุธศิริ ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ป้องกันเวชศาสตร์เขตร้อนสาธารณสุขศาสตร์ และแพทย์ประจำชีวจิตโฮมคลินิก อธิบายว่า

“การมีน้ำตาลในเลือดสูงก็เปรียบเหมือนเลือดกลายเป็นเลือดเชื่อม เมื่อเลือดเชื่อมไหลไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย หลอดเลือดทั้งหมดจึงอยู่ในสภาวะแช่อิ่ม ผนังหลอดเลือดซึ่งมีเอนโดทีเลียลเซลล์ (Endothelial Cell) ก็จะแข็งตัว หยุดการเจริญ ทำหน้าที่ไม่ได้ แทนที่จะมีเอนไซม์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้เส้นเลือดดี ใช้งานได้นาน กลับกลายเป็นเสื่อมหมด เสียความยืดหยุ่นและเปราะแตกง่าย”

และเพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำหน้าที่สูบฉีดเลือด มีเลือดไหลผ่านในปริมาณมาก ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานที่ไม่ดูแลตัวเองจึงมักอยู่ในภาวะเหมือนหัวใจแช่อิ่ม และเป็นโรคหัวใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“เมื่อเส้นเลือดฝอยในหัวใจหนาขึ้น การไหลเวียนของเลือดก็เป็นไปอย่างยากลำบาก อาจผ่านได้แค่ทีละเม็ดเลือดอย่างติดขัด และที่สุดเมื่อผ่านไม่ได้ ก็ไม่สามารถนำออกซิเจนและสารอาหารเข้าไปเลี้ยงเซลล์บริเวณนั้นได้ แม้เกิดขึ้นแค่เพียงจุดใดจุดหนึ่งหรือสะดุดแค่เพียงนิดเดียวก็ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นำมาซึ่งอาการต่างๆ เช่น เหนื่อยง่าย เจ็บหน้าอก ปวดหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจวายได้

“นอกจากนี้ ผนังหลอดเลือดที่หนาขึ้นยังส่งผลให้หัวใจต้องบีบตัวอย่างหนักเพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยง ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นด้วย ซึ่งหากความดันโลหิตสูงเกิน 145/100 มิลลิเมตรปรอทต่อเนื่องนานเป็นปี ๆ ก็จะทำให้หัวใจห้องซ้ายบนโตและทำให้เส้นเลือดเริ่มตีบและแข็งตัวนำไปสู่เส้นเลือดหัวใจแตกหรือตีบ ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจส่วนนั้นตายในที่สุด”
ในกรณีผู้ที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย มักมีการอุดตันของหลอดเลือดหัวใจอย่างกะทันหัน แม้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะฉีดยาละลายลิ่มเลือดหรือขยายหลอดเลือดด้วยการทำบอลลูน เพื่อช่วยรักษากล้ามเนื้อหัวใจให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ แต่ต้องได้รับการรักษาโดยด่วนหลังเกิดอาการเพื่อให้ทันการณ์

 

ทางที่ดีจึงควรป้องกันแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีที่คุณหมอแนะนำต่อไปนี้

 

คู่มือป้องกันโรคหัวใจจากเบาหวาน

คุณหมอองอาจเปรียบร่างกายเสมือนชามข้าว หากเติมอาหารที่มีแต่แป้ง น้ำตาล และไขมัน ก็ยิ่งเพิ่มคราบข้นเหนียวเกาะติดชาม หากทิ้งไว้ ชามจะสกปรกจนเกรอะกรังดังนั้นท่านจึงแนะให้

1. ออกกำลังกายทุกวัน อุปมาเหมือนการล้างชามสกปรกทุกวัน ทำให้ชามสะอาด หลอดเลือดไม่อุดตัน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 – 40 นาที โดยเลือกการออกกำลังกายที่มีการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายให้เร็วกว่าการเดินธรรมดาอย่างต่อเนื่อง เช่น เดินเร็ว วิ่ง ว่ายน้ำ รำกระบอง จึงจะช่วยลดความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้

 


2. กินให้อายุยืน คือ เป็นคนอ่อนหวาน ไม่เป็นคนเค็มและมัน (กินหวานน้อย ไม่กินรสเค็มและของมัน) และกินอาหารที่มีรสเปรี้ยว ขม เผ็ด โดยเฉพาะรสเปรี้ยวที่มีประโยชน์ช่วยล้างเม็ดเลือด เส้นเลือดฝอย และท่อเล็กท่อน้อยทั่วร่างกายให้สะอาดได้

 

 


3. หมั่นตรวจสุขภาพ ผู้ป่วยเบาหวานและผู้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงควรเข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เพื่อตรวจระดับการทำงานของหัวใจอย่างน้อยปีละครั้ง และหมั่นตรวจเช็กระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) อย่างน้อยปีละครั้ง และดูแลตัวเองไม่ให้ระดับน้ำตาลสะสมสูงกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป

 


 เพียงเท่านี้ก็หยุดโรคหัวใจจากเบาหวานได้แล้ว

 

เปลี่ยนพฤติกรรมกิน ไตวาย…ตายไม่ไว

 

 

ระบบในร่างกายเปรียบได้กับนาฬิกาที่มีกลไกต่าง ๆ สัมพันธ์กัน หากลานเล็กๆ ตัวใดตัวหนึ่งเสีย ก็จะทำให้ทั้งเรือนหยุดเดินเช่นเดียวกับ “ไต” ที่มีหน้าที่รักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยกรองเอาของเสียออกจากเลือด เก็บรักษาเม็ดเลือดแดงที่ดีและโปรตีนเอาไว้ แต่หากกินอาหารที่มีน้ำตาลซูโครสมากเกินไปจะส่งผลต่อระบบกรองของเสียและร่างกายทั้งหมด

นายแพทย์นัฐสิทธิ์ ลาภปริสุทธิ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไต ต้องทำงานหนักตามระดับน้ำตาลที่ปะปนกับเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูงภายในไตส่งผลให้หลอดเลือดในไตเปราะ ไตจึงไม่สามารถกรองเลือดและโปรตีนได้ตามปกติ

“ในที่สุดจึงเกิดโปรตีนรั่วปนมาในปัสสาวะ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า คุณกำลังเข้าสู่ภาวะไตเสื่อม และหากปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะกลายเป็นอาการไตวายเรื้อรัง ซึ่งไตจะไม่สามารถกรองของเสียได้อีกต่อไป ทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาเครื่องฟอกไตในการขับของเสียเพื่อรักษาสมดุลน้ำในร่างกายแทน”

โดยการฟอกไตนั้นต้องใช้เงินจำนวนมากคือ ประมาณ 2 หมื่นถึง 6 หมื่นบาทต่อเดือน และต้องทำตลอดไป จัดเป็นการรักษาที่สิ้นเปลืองที่สุดในหมู่โรคแทรกซ้อนเลยทีเดียว

อย่างไรก็ดี การฟอกไตไม่ใช่การรักษาโรค เป็นเพียงการยื้อชีวิตเท่านั้น เพราะมีงานวิจัยของประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์พบว่า การฟอกไตไม่มีผลต่อการรอดชีวิตของผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

คุณหมอนัฐสิทธิ์ยืนยันเช่นเดียวกันว่าการฟอกไตเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ทางที่ดีผู้ป่วยโรคเบาหวานควรป้องกันการเกิดโรคไตตั้งแต่แรก โดยรับการตรวจปัสสาวะทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจดูปริมาณโปรตีนและควบคุมน้ำตาลในเลือดให้คงที่จะดีกว่า

 

 

เบาหวานร้ายแรงอย่างไร

องค์การอนามัยโลก (WHO: World Health Organization) ระบุว่า ระดับน้ำตาลในเลือดปกติอยู่ที่ 82 - 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากตรวจพบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดสูงมากกว่า 126 มิลลิกรัมต่อ

เดซิลิตรขึ้นไป หรือระดับน้ำตาลสะสม (HbA1c) สูงมากกว่า 6.5 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป แสดงว่าคุณกำลังเป็น “โรคเบาหวาน”

แม้ผู้ป่วยบางคนจะได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าระดับน้ำตาลในเลือดเกินเกณฑ์มาตรฐานไม่มาก หรือที่เรียกว่า “ภาวะใกล้เป็นเบาหวาน” แต่ก็ยังมีความเสี่ยงเป็น เบาหวาน จึงไม่ควรนิ่งนอนใจเพราะมีงานวิจัยพบว่า 11 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีภาวะใกล้เป็นเบาหวานจะกลายเป็นเบาหวานภายในเวลา 3 ปี

 

 

ทำอย่างไร…หากมีโปรตีนในปัสสาวะแล้ว

 

 

ในส่วนของการรักษาผู้ป่วย เบาหวาน ที่มีโปรตีนในปัสสาวะแล้ว คุณหมอนัฐสิทธิ์ แนะว่า

ต้องควบคุมอาหารเพิ่มขึ้น (แม้ยังไม่ต้องฟอกไตก็ตาม) คือ นอกจากจะงดหวานแล้ว ยังต้องคุมโปรตีน จำกัดอาหารรสเค็มและอาหารที่มีฟอสฟอรัสอย่างเคร่งครัดด้วย เพื่อชะลอการเกิดภาวะไตวาย
ต้องได้รับการตรวจเลือดเป็นประจำ และรับการรักษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด

ดังนั้นทั้งผู้ป่วยเบาหวานและคนปกติจึงควรงดตามใจปาก ลดหวาน ลดเค็มกันตั้งแต่แรก จะได้ไม่ต้องนั่งเศร้า พะวงเรื่องอาหารการกินและฟอกไตในภายหลัง

 

 

โรคแทรกซ้อนกับอวัยวะส่วนล่าง

เมื่อป่วยเป็นโรคเบาหวาน เลือดซึ่งเต็มไปด้วยน้ำตาลปริมาณสูงจะรุกล้ำมายังอวัยวะส่วนล่างอย่างต่อเนื่อง หากปล่อยทิ้งไว้ ก็จะเกิดโรคแทรกซ้อนที่ขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ป้องกันขาขาดเลือด ลดตัดขาคนเบาหวาน
“ทุก 1 ปี 1 ล้านเท้าถูกตัดเพราะเบาหวาน”

คำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่ควรได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะสถิติของสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯพบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่ป่วยนานตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไปมีสิทธิ์ถูกตัดขาสูงถึงร้อยละ 11 และผู้ที่ถูกตัดไปแล้วข้างหนึ่งมีโอกาสถูกตัดขาอีกข้างภายใน 2 ปีสูงถึงร้อยละ 50

ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้ จะมี

โอกาสเสี่ยงเกิดแผลบริเวณเท้าสูง ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชุมพล ว่องวานิชภาควิชาศัลยศาสตร์หลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายว่า

“ผู้ที่เป็นเบาหวานขั้นรุนแรง เส้นประสาทรับความรู้สึกส่วนปลายจะเกิดความเสื่อมทำให้เท้าผู้ป่วยหมดความรู้สึก แม้เดินไปเหยียบของแหลมหรือร้อนจนเป็นแผลก็จะไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ และหากอาการลุกลามอาจกลายเป็นแผลติดเชื้อได้ ต้องตัดเท้าหรือขาของผู้ป่วยเพื่อรักษาชีวิตไว้”

นอกจากนี้ ผู้ป่วยเบาหวานที่สูบบุหรี่ยังมีความเสี่ยงต่อการถูกตัดขาเพิ่ม 

 

 

เพราะมีข้อมูลจากงานวิจัยในประเทศสวีเดน พบว่าบุหรี่มีผลต่อการอักเสบของหลอดเลือดโดยตรง นอกจากนี้ การอ้วนลงพุงโดยเฉพาะเพศชายที่มีรอบเอวมากกว่า 90 เซนติเมตร และเพศหญิงที่รอบเอวมากกว่า 80 เซนติเมตรขึ้นไป ก็เป็นสัญญาณเตือนของอาการขาขาดเลือด เพราะกลุ่มคนเหล่านี้มักเป็นเบาหวานหรืออยู่ในภาวะใกล้เป็นเบาหวาน และมีระดับไขมันในเลือดสูง จึงเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดอุดตันบริเวณขาและเท้าเช่นกัน

 

ทั้งนี้การอ้วนลงพุงและการสูบบุหรี่ยังทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง ส่งผลให้หลอดเลือดบริเวณขาและเท้าเกิดอาการตีบและแตกได้ ทำให้ขาหมดความรู้สึกได้อีกด้วย

 

ดูแลเท้าดี มีชัยไปกว่าครึ่ง


ความผิดปกติของเท้าเป็นปัญหาสำคัญที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานและครอบครัว อีกทั้งยังเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่สำคัญระดับประเทศ

องค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานข้อมูลว่า 85 เปอร์เซ็นต์ของการเกิดแผลที่เท้าและขานั้นสามารถป้องกันได้ หากเราดูแลเท้าอย่างถูกต้องและปฏิบัติตามคำแนะนำที่ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ

คุณหมอชุมพลได้แนะนำวิธีการดูแลรักษาเท้าสำหรับผู้ป่วย เบาหวาน ว่า “อยากให้ดูแลเท้าเท่ากับดูแลรักษาใบหน้า” คือ

ให้หมั่นตรวจดูสภาพเท้าว่ามีการผิดรูปหรือมีแผลหรือไม่

ห้ามเดินเท้าเปล่าทั้งนอกและในบ้าน

เลือกซื้อรองเท้าให้พอดีกับรูปเท้า ไม่คับหรือหลวมจนเกินไป

ก่อนใส่รองเท้า ต้องเคาะเศษหินที่อาจทำให้เท้าเป็นแผลได้

นอกจากนี้ การบริหารเท้าก็สามารถช่วยให้ระบบหมุนเวียนเลือดบริเวณเท้าดีขึ้นได้ โดยสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยฯแนะนำวิธีบริหารเท้าไว้ดังนี้

 

 

บริหารขาด้วยท่าแกว่งเท้า

ยืนเกาะขอบโต๊ะ เหยียดขาตึง แกว่งเท้าไปด้านหน้าเกร็งขา แล้วค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 แล้วแกว่งไปด้านหลัง ค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 ทำ 10 ครั้ง สลับข้าง

 

บริหารน่อง

นั่งเก้าอี้หลังตรง ยกปลายเท้าสูงจากพื้น 1 ฟุต เกร็งปลายเท้าให้ชี้เข้าหาตัว ส้นเท้าเหยียดออกจนรู้สึกน่องตึง ค้างท่าไว้ นับ 1 - 10 คลายกล้ามเนื้อน่อง ทำ 10 ครั้ง สลับข้าง

เห็นแล้วใช่ไหมครับว่า “โรคเบาหวาน” มีขบวนพาเหรดเพื่อนร่วมโรคมากมายจริง ๆ ทางที่ดีผู้ป่วยควรจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิต และหมั่นไปตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนเหล่านี้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังเช่นคำขวัญขององค์การอนามัยโลกกันนะค่ะ

 

 

“A Full Life Despite Diabetes”

“แม้เป็นเบาหวาน ชีวิตก็เบิกบานได้”

 

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 376

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate