ไขความจริง จากความเชื่อ (ผิดๆ) โรค เบาหวาน

ไขความจริง จากความเชื่อ (ผิดๆ) โรค เบาหวาน

เบาหวาน ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ปี โรคนี้ยังคงเป็นโรคยอดฮิตของคนไทย

โดยมีสถิติจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยที่ระบุว่า ในคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปทุกๆ 100 คน จะมีผู้ป่วยเบาหวานอยู่ 7 คน ความน่ากลัวของโรคเบาหวานอยู่ที่โรคนี้อาจนำไปสู่โรคร้ายแรงอื่นๆ ได้อีกหลายสิบโรค

ชีวจิต จึงคัดสรรแง่มุมพิเศษๆ ของโรคเบาหวานมาฝากกัน แต่เป็นความพิเศษในเรื่องความเชื่อและความจริงของโรคที่ ชีวจิต อยากชวนทุกท่าน (ซึ่งไม่ว่าจะป่วยแล้ว หรืออยากป้องกันตัวเองไม่ให้ป่วย) ไปค้นหาคำตอบที่ถูกต้องด้วยกันเพราะไม่แน่ว่า ความเชื่อ (ผิดๆ) ต่อไปนี้อาจเป็นสิ่งที่หลายคนอ่านแล้วต้องบอกว่า “ไม่น่าเชื่อ” ก็เป็นได้…

 

ความเชื่อว่า แป้งและน้ำตาลเท่านั้นที่ก่อเบาหวาน

 

 

Fact

เนื่องจากโรคนี้มีชื่อว่า “เบาหวาน” ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ปัจจัยก่อโรคเกิดจากการกินแป้งหรือน้ำตาลเป็นหลัก

แต่นักวิจัยจากโรงเรียนสาธารณสุขฮาร์วาร์ด (Harvard School of Public Health: HSPH) ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ทำการศึกษาวิจัยพบว่า เนื้อสัตว์ใหญ่จำพวกเนื้อแดง (Red Meat) เช่น เนื้อวัว เนื้อหมู รวมทั้งเนื้อที่ผ่านการปรุงแต่งเช่น ไส้กรอก เบคอน แฮม และอื่นๆ ก็เป็นตัวการก่อโรคเบาหวานเช่นกันจาก

 

 

การศึกษาพบว่า นอกจากแป้งและน้ำตาลแล้ว ไขมันอิ่มตัวซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์ใหญ่ กลับเป็นอีกตัวการหนึ่งที่ก่อโรคเบาหวาน เพราะไขมันอิ่มตัวจะไปยับยั้งให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้น้อยลง ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ช้า และเมื่อน้ำตาลไม่ลด ตับอ่อนจึงต้องผลิตอินซูลินออกมาเพิ่มเกินกว่าปกติ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง

นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตับอ่อนต้องทำงานหนักเกินไปและเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ จนไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เหมือนตอนที่ตับอ่อนยังทำงานเป็นปกติ ซึ่งจะนำไปสู่โรคเบาหวานในที่สุด

นอกจากนี้ นายแพทย์เจอรัลด์ เรเวน (Gerald Reaven) แพทย์จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกายังให้ข้อมูลที่ตรงกันว่า

 

“คนที่มีไขมันสะสมในร่างกายมาก โดยเฉพาะคนอ้วน ซึ่งมีการสะสมของไขมันในเซลล์มากกว่าคนผอม จะมีโอกาสป่วยเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ได้ง่าย เนื่องจากไขมันอิ่มตัวเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของอินซูลิน ซึ่งหากร่างกายมีไขมันในเซลล์มาก อินซูลินก็จะยิ่งนำน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้น้อยลง

“เมื่อนานวันเข้า ร่างกายจึงเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ง่ายอีกทั้งยังส่งผลให้เกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือด ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดโรคอื่นๆ ตามมา เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นตะคริวที่เท้า หรือหากมีการติดเชื้อก็จะหายยากและกลายเป็นแผลเน่าจนอาจต้องตัดขา”

ความคิดที่ว่า หากเรากินเนื้อสัตว์ใหญ่เต็มที่ แต่ควบคุมการกินแป้งและน้ำตาลให้อยู่ในปริมาณไม่มาก จะไม่มีสิทธิ์เป็นโรคเบาหวาน จึงอาจเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้องเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ค่ะ

 

ความเชื่อว่า แป้งและน้ำตาลเท่านั้นที่ก่อเบาหวาน

 

How to Fix

แม้เนื้อสัตว์ใหญ่จะไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี แต่การกินอาหารประเภทโปรตีนและไขมันนั้นถือเป็นสิ่งที่ร่างกายเราขาดไม่ได้ดังนั้น เราจึงควรปรับเปลี่ยนจากเนื้อสัตว์เป็นอาหารประเภทอื่นๆ แทน ได้แก่

 

กินโปรตีนจากพืชและปลาเป็นหลัก

 

 

วอลเตอร์ วิลเลตต์ (Walter Willett) นักโภชนาการชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ดูแลงานวิจัยข้างต้น แนะนำว่า คนที่เป็นเบาหวาน ควรหลีกเลี่ยงการกินเนื้อแดง รวมทั้งผลิตภัณฑ์แปรรูปจากเนื้อแดงแล้วหันมากินโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่นโปรตีนจากเมล็ดธัญพืชหรือโฮลเกรน ถั่ว เต้าหู้ รวมทั้งเนื้อปลาที่มีไขมันต่ำเพื่อให้ร่างกายได้รับโปรตีนที่จำเป็น โดยไม่ต้องรับไขมันปริมาณมากเข้าไปด้วย

 

กินไขมันไม่อิ่มตัว

 

ไขมันอิ่มตัวคือปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงเบาหวาน ทางเลี่ยงที่จะทำให้ร่างกายได้รับไขมันโดยไม่ทำร้ายสุขภาพจึงเป็นการเลือกกินไขมันไม่อิ่มตัว ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันชนิดร้ายในร่างกายได้ เช่น ถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ เมล็ดทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันมะกอก อะโวคาโด อย่างไรก็ตาม รองศาสตราจารย์ ดร.วินัย ดะห์ลัน ผู้อำนวยการและผู้ก่อตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า ถึงเป็นไขมันชนิดดี แต่ก็ไม่ควรกินในปริมาณมากเกินไป เพราะจะเป็นโทษต่อระบบทางเดินอาหาร

 

 

ความเชื่อว่า น้ำตาลจากผลไม้คือน้ำตาลที่ปลอดภัย

 

Fact

 

ผู้ป่วยเบาหวานหลายคนจำต้องตัดใจจากขนมหวานของโปรด เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลไม่ให้เพิ่มขึ้นด้วยเหตุนี้ ผลไม้จึงกลายเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เพราะใครๆ ต่างก็คิดว่าผลไม้นั้นมีประโยชน์ต่อร่างกายแถมยังให้แคลอรีต่ำกว่าขนมหวานอีกด้วย

แต่ในความเป็นจริง อาจารย์สุระภี เสริมพณิชกิจ กรรมการสมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทยและที่ปรึกษาด้านโภชนบำบัด ฝ่ายโภชนาการ โรงพยาบาลรามาธิบดี เคยกล่าวไว้ว่า

พฤติกรรมการกินผลไม้ของผู้ป่วยเบาหวานกลับกลายเป็นตัวการหนึ่งที่ทำให้น้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงกว่าเดิม เนื่องจากในผลไม้มีน้ำตาลฟรักโทส (Fructose) ซึ่งเมื่อกินเข้าไปจะแปรเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส และทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น
ข้อมูลจากหนังสือเรื่อง โภชนาการกับผลไม้ ระบุถึงข้อควรระวังในการกินผลไม้สำหรับผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มเติมว่า

“สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ถึงแม้จะมีรายงานว่า ผลไม้ส่วนใหญ่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ แต่ข้อมูลเกี่ยวกับค่าดัชนีน้ำตาลของผลไม้ยังมีไม่ครบถ้วน ดังนั้นถึงแม้ผู้ป่วยเบาหวานจะสามารถเลือกรับประทานผลไม้ได้หลากหลายชนิด แต่ควรระมัดระวังเรื่องปริมาณและชนิดของผลไม้ที่บริโภคด้วย”

 

How to Fix

อ่านข้อมูลด้านบนแล้วก็อย่าเพิ่งตกใจจนไม่กล้ากินผลไม้ค่ะ เพราะน้ำตาลในผลไม้ไม่ได้น่ากลัวแต่อย่างใด เพียงแค่เรารู้จักปรับวิธีกินให้ได้สัดส่วนที่เหมาะสมก็เป็นอันใช้ได้

เริ่มจากปฏิบัติตามคำแนะนำของอาจารย์สุระภี ที่กล่าวถึงหลักการกินผลไม้ในหนึ่งมื้อสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน คือ…

 

ผลไม้รสหวานจัด เช่น มะม่วงสุก กล้วยหอม กินได้ 6 คำ

 

ผลไม้รสหวานปานกลาง เช่น ลิ้นจี่ องุ่น สับปะรด กินได้ 8 – 10 คำ

 

ผลไม้รสหวานน้อย เช่น ชมพู่ ฝรั่ง แก้วมังกร กินได้ 10 – 15 คำ

สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า

ผู้ป่วยเบาหวานควรเลือกกินผลไม้เพียงมื้อละ 1 ชนิด วันละ 2 – 3 ครั้งหลังอาหาร เพราะการกินผลไม้ครั้งละมาก ๆ แม้จะเป็นผลไม้ที่ไม่หวาน ก็อาจทำให้น้ำตาลในเลือดขึ้นสูงได้ นอกจากนั้นควรเลี่ยงผลไม้ตากแห้ง ผลไม้กวน ผลไม้เชื่อม ผลไม้แช่อิ่ม และผลไม้กระป๋อง ควรกินผลไม้สด เพราะจะช่วยควบคุมอาการเบาหวานได้ดี โดยก่อนจะเลือกกินผลไม้ ลองดูปริมาณน้ำตาลด้วย

 

 

ความเชื่อว่า เบาหวาน เป็นโรคของคนอ้วน

 

 

Fact

เมื่อพูดถึงโรคเบาหวาน คำจำกัดความของโรคนี้มักจะมาพร้อมกับภาพของคนอ้วน เนื่องจากคนเป็นโรคนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงวัยผู้ใหญ่ไปจนถึงวัยสูงอายุ และส่วนมากคนที่เป็นจะมีรูปร่างค่อนไปทางเจ้าเนื้อ ประกอบกับโรคเบาหวานนั้นเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการกินเป็นหลักสำคัญ หลาย ๆ คนจึงอาจคิดว่า หากเราเป็นคนรูปร่างผอมคงไม่มีทางเป็นโรคนี้ได้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงเรื่องนี้ผ่านทาง โภชนาการออนไลน์ ว่า

“คำถามเรื่องคนผอมเป็นเบาหวานได้หรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าสนใจเพราะมีปรากฏการณ์จากงานวิจัยในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาพบว่า ทารกที่เกิดมามีน้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม รวมทั้งทารกและเด็กที่ขาดอาหารจนผอมแห้ง ซึ่งอาจเกิดจากการขาดอาหารจริง ๆ หรือเกิดจากโรคเรื้อรัง เช่น อุจจาระร่วง เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ไม่ว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีการขาดอาหารหรือไม่ขาดอาหารแล้ว แต่ก็มีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานมากกว่าเด็กคนอื่น…เนื่องจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตอินซูลินออกมาได้ตามปกติ”

แต่หากถามต่อว่า ผู้ใหญ่ที่ไม่ได้เป็นโรคเบาหวานมาตั้งแต่เด็กและไม่ได้อ้วนแต่อย่างใด จะมีโอกาสเป็นเบาหวานได้หรือไม่ คำตอบคือ “คนไม่อ้วนมีความเสี่ยงน้อยกว่า”

อย่างไรก็ตาม เบาหวานในวัยผู้ใหญ่เป็นโรคที่มีสาเหตุจากการกินเป็นหลัก ซึ่งมีผลงานวิจัยจาก นายแพทย์ที. แอล. คลีฟ (T. L. Cleave) ระบุว่า “สังคมใดที่มีการปรับเปลี่ยนอาหารดั้งเดิมของตน (หรืออาหารจากธรรมชาติ) ไปเป็นอาหารแบบตะวันตก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นคาร์โบไฮเดรตขัดขาว เพียงช่วงระยะเวลา 20 ปีสมาชิกในสังคมนั้นที่เคยมีสุขภาพดีและไม่ดีคละเคล้ากันไป จะกลายเป็นสังคมที่ชุกชุมไปด้วยโรคเบาหวานและโรคหัวใจ”

 

ดังนั้น สำหรับคนผอมเอง หากไม่ควบคุมอาหารหรือเลือกกินอาหารที่เป็นโทษต่อร่างกาย วันหนึ่งโรคเบาหวานก็อาจมาเยือนได้เหมือนกันค่ะ

 

ความเชื่อว่า เบาหวาน เป็นโรคของคนอ้วน

 

How to Fix

สำหรับการดูแลโรคเบาหวานจากสาเหตุนี้ อาจมีความแตกต่างออกไปจากข้ออื่น ๆ โดยจะพูดถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับหญิงตั้งครรภ์ เพื่อไม่ให้ลูกเกิดมาเป็นเบาหวานรวมทั้งการดูแลตัวเองสำหรับคนผอมที่ไม่อยากเป็นเบาหวานดังเช่น

 

ดูแลสุขภาพหญิงตั้งครรภ์

 

 

เริ่มจากคุณหมอไกรสิทธิ์ที่แนะนำให้คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ใส่ใจเรื่องสุขภาพของลูกน้อยในครรภ์ด้วย เพื่อให้ทารกไม่เกิดภาวะขาดอาหาร มีน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ คือประมาณ 3,000 กิโลกรัมโดยหลักการดูแลสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ไม่ต่างกับคนปกติ คือ กินอาหารที่ถูกต้องเหมาะสมคู่กับการออกกำลังกายแล้วโรคจะมีความรุนแรงน้อยลง

 

กินอาหารค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ

 

 

สมาคมเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกาบอกถึงตัวเลขว่า เมื่อเรากินคาร์โบไฮเดรตทุก ๆ 5 กรัม จะทำให้กลูโคสในกระแสเลือดเพิ่มขึ้นประมาณ 15 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ดังนั้น ในการกินอาหารแต่ละครั้งจึงควรเลือกอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ (ค่าที่ใช้วัดว่าคาร์โบไฮเดรตจะเปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคสได้เร็วหรือช้าแค่ไหน ซึ่งส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด) ซึ่งพบในอาหารประเภทโปรตีน รวมทั้งผักและผลไม้บางชนิด (ที่กล่าวไปในหัวข้อ “ความเชื่อที่ 1 – 3”) และคาร์โบไฮเดรตที่ไม่ผ่านการแปรรูปหรือแป้งไม่ขัดขาว

 

ออกกำลังกาย

 

 

การออกกำลังกายเป็นหนึ่งในหลักการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยทุกโรค โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ซึ่งเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์กับการรับพลังงานจากอาหาร

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าการออกกำลังกายจะช่วยเผาผลาญกลูโคสในร่างกาย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ เช่น คุณอรปรียา สรรพตานนท์ ผู้ป่วยเบาหวานที่รำไทเก๊กวันละครึ่งชั่วโมง สัปดาห์ละ 3 วัน การออกกำลังกายนี้ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดซึ่งอยู่ที่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ลดลงเหลือ 120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

 

 

รู้อย่างนี้แล้ว อย่าลืมลุกขึ้นมาขยับตัวกันวันละนิดวันละหน่อยโรคเบาหวานจะได้ไม่มากวนใจค่ะ

 

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate