โรคไตอาการ ที่ควรรู้ รู้เร็ว รู้ก่อน ป้องกันได้

โรคไตอาการ ที่ควรรู้ รู้เร็ว รู้ก่อน ป้องกันได้

โรคไตอาการ ที่ควรรู้ “โรคไต” คือ กลุ่มโรคหรือภาวะที่ทำให้ไตเกิดความเสียหาย

หรือทำงานผิดปกติจนเกิดอาการเจ็บป่วยต่างๆ ตามมา เนื่องจากไตไม่สามารถฟอกเลือดหรือขับของเสียออกจากเลือดได้ตามปกติ หากป่วยเป็นโรคไต ผู้ป่วยต้องเข้ารับการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม เพื่อบรรเทาอาการและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อชีวิต

ไต ทำหน้าที่หลายอย่าง ดังนี้

– กำจัดของเสียออกทางปัสสาวะ ที่สำคัญคือของเสียจากโปรตีนและจากกล้ามเนื้อคือ ยูเรีย (Urea) และครีอะตินิน (Creatinine) ซึ่งถ้ามีมากร่างกายจะเจ็บป่วย

– กำจัดยาบางชนิดหรือสารที่เป็นพิษอื่นๆ

– ดูดซึมและเก็บสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

– กำจัดน้ำ เกลือแร่ และสารส่วนเกิน รวมทั้งกรดเพื่อให้ร่างกายอยู่ในภาวะปกติ

– สร้างฮอร์โมนกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงในไขกระดูกดังนั้นถ้าไตวายจะทำให้ซีดได้

– ผลิตวิตามินดีให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการเสริมสร้างกระดูก

 

ไตไม่ทำงานจะเกิดอะไรขึ้น

– ของเสียคั่งในเลือดทำให้เลือดไม่สะอาด เมื่อเลือดไม่สะอาดไหลไปหล่อเลี้ยงเซลล์ต่างๆ ของร่างกายเซลล์จะทำงานไม่ได้ดังปกติ

– การคั่งของน้ำของเสีย เกลือแร่ และกรดในร่างกายจะทำให้ร่างกายทำงานผิดปกติ

– ถ้าไตหยุดทำงานอย่างรวดเร็ว ร่างกายปรับตัวไม่ทันจะมีอาการให้เห็นเร็ว แต่ถ้าไตทำงานลดลงอย่างช้าๆร่างกายจะปรับตัวตามได้บ้าง อาจยังมีอาการไม่มากในระยะแรก

แต่เมื่อใดที่ไตทำงานน้อยมาก ร่างกายก็ไม่สามารถปรับตัวได้อีกจะเกิดอาการผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด

 

 

จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็น“โรคไต”

โรคไตในระยะเริ่มแรกจะไม่มีอาการ ถ้าต้องการทราบว่าตนเองเป็นโรคไตหรือไม่สามารถตรวจขั้นต้น ดังนี้

– ตรวจวัดความดันโลหิตว่าสูงหรือไม่

– ตรวจปัสสาวะเพื่อดูร่องรอยการอักเสบของไต

– ตรวจเลือดหาระดับ “ครีอะตินิน” เพื่อคำนวณการทำงานของไต
ถ้าพบสิ่งผิดปกติแพทย์จะแนะนำให้ตรวจละเอียดต่อไป

 

โรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยและอาการบอกโรคไตโรคไตเรื้อรังเกิดได้จาก

– โรคไตอักเสบจากการติดเชื้อ เชื้อโรคสามารถขึ้นไปตามทางเดินปัสสาวะไปทำลายไต

– โรคไตที่เกิดจากโรคอื่นๆ ที่พบบ่อย ได้แก่ ความดันโลหิตสูงเบาหวาน เกาต์ เอสแอลอี เป็นต้น

– โรคไตอักเสบจากปฏิกิริยาภูมิแพ้ อาจเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสหรือสารอื่นๆ

– โรคไตจากยาและสารพิษ เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มเอนเสด (NSASPs)ยาปฏิชีวนะบางชนิด หรือสารพิษจากสิ่งแวดล้อม อาทิ ตะกั่ว ปรอท

– โรคไตที่เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะได้แก่ นิ่ว เนื้องอก ต่อมลูกหมากโต

– โรคไตทางพันธุกรรม อาทิ ถุงน้ำในไต

** ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล

 

อาการเตือน เสี่ยงโรคไต

1. มีอาการบวมทั้งตัว

ผู้ป่วยโรคไตส่วนมากจะมีอาการบวมตามตัว เกิดจากการมีน้ำและเกลือเพิ่มขึ้นในร่างกาย ระยะแรกอาจมีเพียงการบวมที่หนังตา และหน้า ต่อมาจะมีการบวมที่ขาและเท้าทั้งสองข้าง โดยทดสอบได้ด้วยการลองใช้นิ้วกดที่หน้าแข้งสักพักแล้วปล่อย หากพบว่ามีรอยบุ๋มอยู่แสดงว่าบวมแน่น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยโรค เพราะอาการบวมอาจไม่ได้เป็นโรคไตก็ได้ แต่ยังเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ และโรคตับ ดังนั้นการตรวจปัสสาวะน่าจะได้ผลที่ชัดเจนที่สุด

2. เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ซีด

ผู้ที่เป็นโรคไต ถ้าเป็นน้อย ๆ มักไม่แสดงอาการ แต่เมื่อเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หากเป็นมาก ๆ ใกล้เป็นไตวายเรื้อรังจะเพิ่มอาการซีด คันตามตัว เบื่ออาหาร

3. ปวดหลัง ปวดบั้นเอว

 

รูปภาพจาก  unsplash

หากไตเกิดความผิดปกติขึ้น เราอาจรู้สึกปวดหลัง บั้นเอวที่บริเวณชายโครง ร้าวไปถึงท้องน้อย หัวหน่าว และที่อวัยวะเพศได้ บางคนก็ถึงขั้นปวดกระดูกและข้อ ซึ่งอาจเป็นเพราะมีการอุดตันที่ท่อไต กรวยไตอักเสบ หรือในท่อไตมีถุงน้ำโป่งพองก็ได้ แต่อาการปวดหลังก็สามารถวินิจฉัยได้หลายโรคเช่นกัน จึงต้องตรวจสอบอาการอื่นควบคู่ ๆ ไปด้วย ทั้งนี้ หากเรากดหลัง และทุบเบา ๆ แล้วมีอาการเจ็บ อาจแสดงว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง หรือไตอักเสบ ถ้ามีไข้สูงร่วมด้วยอาจเป็นสัญญาณของกรวยไตอักเสบติดเชื้ออย่างเฉียบพลัน ซึ่งก็มีหลายโรคที่ทำให้เกิดภาวะไตเสื่อมร่วมด้วย เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรค SLE เป็นต้น

 

4. ปัสสาวะผิดปกติ

อาจหมายถึงไตทำงานผิดปกติได้ โดยเราสามารถสังเกตปัสสาวะได้ดังนี้

– ปัสสาวะเป็นเลือด อาจมีหลายโรคที่ทำให้เกิดอาการนี้ ทั้งนิ่ว เนื้องอกของทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ อุบัติเหตุกับทางเดินปัสสาวะ หรือเส้นเลือดฝอยของไตอักเสบ แม้แต่มะเร็งของระบบทางเดินปัสสาวะ หรือโรคไตเป็นถุงน้ำ ฯลฯ

– ปัสสาวะน้อยลง แต่หากใครปัสสาวะไม่ออกเลย อาจเป็นเพราะทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้น หรือการทำงานของไตเสียไป ลองทดสอบง่าย ๆ ด้วยการดื่มน้ำให้มากขึ้น แล้วสังเกตดูว่าปัสสาวะออกมากขึ้นหรือไม่ หากปัสสาวะยังน้อยอยู่ นั่นแสดงว่าไตเริ่มผิดปกติ

– ปัสสาวะบ่อย ความถี่ในการปัสสาวะของแต่ละคนนั้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการดื่มน้ำ หรือการที่ร่างกายเสียน้ำไปทางอื่น ๆ เช่น เหงื่อ หรืออุจจาระ แต่หากวันดีคืนดี รู้สึกว่าตัวเองปัสสาวะบ่อยผิดปกติ หรือตื่นขึ้นมาปัสสาวะในตอนกลางคืนมากกว่า 3-4 ครั้ง อาจต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคไตก็ได้ เพราะกระเพาะปัสสาวะจะสามารถเก็บน้ำได้ถึง 250 ซี.ซี. แต่ในคนที่เป็นโรคไต ไตจะไม่สามารถหยุดการขับน้ำในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีน้ำออกมามากและปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ จึงมักจะตื่นขึ้นมาปัสสาวะตอนกลางดึก

– ปัสสาวะเป็นฟองมาก ฟองสีขาว ๆ ที่เราในปัสสาวะก็คือโปรตีนนั่นเอง ซึ่งก็มีกันทุกคน แต่หากใครมีฟองสีขาว ๆ มากผิดปกติ อาจสงสัยไว้ก่อนว่า เส้นเลือดฝอยในไตอาจอักเสบ ทำให้มีโปรตีนรั่วไหลออกมามากผิดปกติ แต่ถึงกระนั้นก็อย่าเพิ่งฟันธงว่าเป็นโรคไต ต้องดูอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น หากปัสสาวะมีฟองมากแถมยังเป็นเลือด ก็สันนิษฐานได้ว่าอาจเป็นโรคไตก็ได้ ให้รีบไปพบแพทย์ตรวจร่างกายโดยเร็ว

 

5. ความดันโลหิตสูงมากๆ

การกินอาหารรสเค็มมากๆ จะทำให้ไตทำงานหนัก และเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูงด้วย

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

ข้อมูลจากสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย