อายุมากขึ้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่าปลอดภัยจากภาวะ สมองเสื่อม อัลไซเมอร์

อายุมากขึ้น จะแน่ใจได้อย่างไรว่าปลอดภัยจากภาวะ สมองเสื่อม อัลไซเมอร์

ภาวะ สมองเสื่อม อัลไซเมอร์ เมื่อร่างกายกำลังถดถอย

ภาวะ สมองเสื่อม คือความถดถอยของสมองที่ทำให้ประสิทธิภาพในการจดจำลดลง สาเหตุเกิดจากหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือโรคอัลไซเมอร์ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของโปรตีนเทาและการสะสมแอมีลอยด์บีตา

 

โรคอัลไซเมอร์ในระยะแรกแม้จะตรวจสอบอย่างละเอียดด้วยภาพถ่าย MRI จะเห็นเพียงส่วนหนึ่งของฮิปโปแคมปัสที่มีการเปลี่ยนรูปและหดตัวลงเล็กน้อยเท่านั้น ระยะพัฒนาของโรคจะใช้เวลา 20 ปี โดยระหว่างนี้ความเสื่อมสภาพจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอาการของโรคแสดงออกมาในที่สุด เมื่อถึงระยะนี้อาการของโรคก็จะจัดอยู่ในระดับ 3 หรือ ระดับกลางแล้ว ถ้าเมื่อใดรู้สึกถึงอาการที่ผิดปกตินั่นหมายความว่าภาวะสมองเสื่อมไม่ใช่ระยะเริ่มต้น แต่เป็นระยะที่ 3แล้ว ซึ่งเป็นอาการแสดงของโรคอัลไซเมอร์นั่นเอง

 

 

เมื่อสมองเสื่อมอัลไซเมอร์คุกคาม

นายแพทย์ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยว่า โรคสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ เป็นภาวะสมองเสื่อมชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากการตายของเซลล์สมองทำให้การทำงานของสมองเสื่อมลง จนกระทั่งส่งผลกระทบต่อกิจวัตรประจำวัน การดำเนินของโรคแย่ลงเรื่อยๆ เนื่องจากความเสียหายของเซลล์สมองที่ตายเพิ่มมากขึ้น เมื่ออาการของโรคดำเนินไประยะหนึ่งผู้ป่วยจะเริ่มสูญเสียความเป็นตัวเองและความสามารถในการดูแลตัวเองจะน้อยลงไปเรื่อยๆ เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบบ่อยมากที่สุดโดยมีปัจจัยที่เป็นเหตุส่งเสริม คือ อายุมากกว่า 65 ปี และกรรมพันธุ์ เช่น มีบิดามารดาป่วยเป็นโรคนี้ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป 1 ใน 9 คน จะมีภาวะสมองเสื่อมอัลไซเมอร์ ในขณะที่ผู้ที่มีอายุ 85 ปีขึ้นไป 1 ใน 3 คน มีภาวะเสี่ยงอัลไซเมอร์เช่นกัน

 

 

ระยะของโรคและอาการ

นายแพทย์อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา เผยว่า อาการของโรคนี้แบ่งเป็น 3 ระยะคือ

1.ระยะเริ่มต้น มีอาการเฉยเมย สูญเสียความจำระยะสั้น พฤติกรรมเปลี่ยนไป นึกคำพูดไม่ออก

2.ระยะกลาง ผู้ป่วยจะมีอาการเห็นภาพหลอน อารมณ์ฉุนเฉียวรุนแรง สูญเสียความจำระยะยาว สูญเสียความสามารถในการใช้ภาษา

3.ระยะรุนแรง ผู้ป่วยจะมีอาการเฉยเมยอย่างรุนแรงไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ สูญเสียความสามารถในการสื่อสารและต้องอาศัยผู้ดูแล 100%

 

 

การดูแลรักษา

ทั้งนี้ สามารถบำรุงรักษาสมอง ป้องกันอัลไซเมอร์ ด้วยหลักบันได 3 ขั้น คือ

1.บันได: ขั้นพื้นฐานดูแลระบบไหลเวียนเลือดให้ดี ให้ร่างกายรับออกซิเจน พลังงานและสารอาหารอย่างพอเหมาะ อย่าให้มีไขมันในเลือดสูง และออกกำลังกายสม่ำเสมอ

 

 

2.บันได : ขั้นกลาง รักษาสุขภาพ เลิกบุหรี่ สุรา และยาเสพติด ทำจิตใจให้เบิกบาน เอื้อเฟื้อผู้อื่น มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆ

 

 

3.บันได : ขั้นสูง ฝึกจำให้ได้ โดยตั้งใจจำ หาเทคนิคช่วยจำ ทำการทบทวนโดยการคิดเลขที่ไม่ยากนัก เล่นเกมต่างๆ และบริหารสมองด้วยกิจกรรม เช่น วาดรูป ประดิษฐ์สิ่งของ เล่นปริศนาอักษรไขว้

 

 

 

 

การป้องกัน

5 ข้อควรปฏิบัติ กระตุ้นสมองให้มีชีวิตชีวาในชีวิตประจำวัน

1.สร้างความเคยชินใหม่ ๆ เช่น ใช้มือข้างที่ไม่ถนัดตูตัวขณะอาบน้ำ, จัดลำดับการทำความสะอาดบ้าน หรือ เวลาคุยโทรศัพท์ให้ร่างคำพูดในกระดาษ

2.ตื่นนอนภายในเวลาที่กำหนด เพื่อให้ชีวิตได้กระฉับกระเฉง จึงจำเป็นต้องปลุกสมองให้ตื่นขึ้นในช่วงเช้า

3.ทำจิตใจให้เบิกบานเสมอ การเลือกเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายให้สอดคล้องกับอารมณ์ความรู้สึกช่วยกระตุ้นการทำงานของเขตบรอดมันส์ที่เกี่ยวกับระบบแสดงอารมณ์

4.ช่วยทำงานบ้าน กระตุ้นให้ระบบการเคลื่อนไหวและระบบการมองเห็นของเขตบรอดมันส์ทำงานได้อย่างกระฉับกระเฉง ทำให้สมองอยู่ในสภาพดี

5.ใช้เวลานาน ๆ กับการทำกิจกรรม แม้จะดูเหมือนเป็นเรื่องเสียเวลา แต่กับเป็นการสร้างคุณค่าต่อสมอง

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก     หนังสือ เทรนสมองให้ไกลอัลไซเมอร์ โดย นายแพทย์คาโต้ โทะชิโนะริ สำนักพิมพ์อมรินทร์เฮลท์


ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate