ฟังเสียงจากข้อต่อ โรคกระดูกเสื่อม

ฟังเสียงจากข้อต่อ โรคกระดูกเสื่อม

โรคกระดูกเสื่อม เสียงจากข้อ

เวลาทำกิจกรรมต่างๆ เช่น เสียงขณะหักข้อนิ้วและข้อมือเสียงจากเข่าขณะกำลังลุกเดินหรือยืดขา เสียงจากข้อเท้าเวลาขยับข้อเท้า เสียงจากกระดูกต้นคอเวลาหมุนคอ เป็นต้น

หมอมักได้รับคำถามจากคนไข้และคนรอบตัวอยู่เสมอว่า เสียงเหล่านี้เกิดจากอะไรมีอันตรายหรือไม่ จำเป็นต้องไปตรวจเพิ่มเติมไหม บทความนี้จะช่วยตอบคำถามเหล่านี้ได้ค่ะ

 

ประเภทของข้อต่อที่เกิดเสียงได้ง่าย

คือ ไดอาร์โทรไดอัลจอยต์ (Diarthrodial Joint) ซึ่งพบมากที่สุดในร่างกาย ข้อต่อประเภทนี้ประกอบไปด้วยกระดูกสองชิ้นมาบรรจบกันตรงผิวกระดูกอ่อน โดยมีปลอกหุ้มข้อต่อ (Joint Capsule) ห่อหุ้มผิวกระดูกอ่อนอยู่ภายในปลอกหุ้มข้อต่อจะมีของเหลวที่ใช้หล่อลื่นข้อต่อเรียกว่า น้ำไขข้อ (Synovial Fluid) ซึ่งมีก๊าซ เช่น ออกซิเจน ไนโตรเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ละลายอยู่

 

ข้อต่อที่หักแล้วเกิดเสียงได้ง่ายที่สุด

คือ ข้อนิ้วมือของเรานั่นเองเสียงก๊อบแก๊บ กรอบแกรบ เสียงจากข้อนั้นเกิดได้ทั้งในกระดูกคอ เข่า นิ้ว หลังและข้อเท้า มีสาเหตุมากมาย เช่น

เกิดจากก๊าซในน้ำไขข้อกลายเป็นฟอง เนื่องจากเมื่อหักข้อนิ้วมือ ปลอกหุ้มข้อต่อจะถูกยืดขยายออก ทำให้แรงดันในข้อลดลง ก๊าซที่ละลายอยู่ในน้ำไขข้อจะผุดเป็นฟอง แล้วรวมตัวกันเป็นฟองก๊าซขนาดใหญ่ และเมื่อยืดข้อต่อออกไปอีกน้ำไขข้อจะไหลกลับเข้าสู่ข้ออีกครั้ง ทำให้ฟองก๊าซขนาดใหญ่เหล่านั้นยุบลงเป็นฟองขนาดเล็กอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดเสียงดังภายในข้อนั่นเอง

และเสียงจากการหักข้อนิ้วจะเกิดขึ้นอีกครั้งต่อเมื่อฟองก๊าซได้ละลายอยู่ในน้ำไขข้อแล้ว ซึ่งใช้เวลาประมาณ 15 นาที

เกิดจากการเคลื่อนไหวของข้อ กระดูกอ่อน และเอ็นรอบๆ ข้อ ซึ่งทำให้เกิดเสียงได้ มักจะเป็นบริเวณข้อเข่าและข้อเท้า ข้อเสื่อม ทำให้พื้นที่ผิวข้อขรุขระ เมื่อมีการเสียดสีกันจะทำให้เกิดเสียงกรอบแกรบได้

 

เสียงหรือความรู้สึกที่เกิดขึ้นเวลาขยับข้อขนาดใหญ่ 

ภาษาอังกฤษเรียกว่า เครพิทุส (Crepitus) เราสามารถสังเกตอาการนี้ได้โดยวางฝ่ามือไว้ที่ข้อ แล้วขยับข้อนั้นไปมา สังเกตความรู้สึกบริเวณฝ่ามือ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ

 

แบบละเอียด (Fine Crepitus) เป็นความรู้สึกคล้ายการใช้นิ้วมือขยี้เส้นผม เกิดจากการบดขยี้ของเยื่อบุผิวที่หนาตัวขึ้น จากการอักเสบเรื้อรังพบได้ในผู้ป่วยโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์และวัณโรคข้อ

 

แบบหยาบ (Coarse Crepitus) คล้ายมีเสียงกุกกักหรืออาจได้ยินเสียงลั่นในข้อขณะตรวจ เกิดจากการเสียดสีของผิวกระดูกอ่อนที่ขรุขระหรือมีเศษกระดูกอ่อนชิ้นเล็กๆ หลุดและแขวนลอยอยู่ภายในข้อ พบบ่อยในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมหรือโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ระยะท้ายๆ ที่ผิวกระดูกอ่อนถูกทำลายอย่างรุนแรง

ในคนปกติอาจตรวจพบได้ไม่บ่อยนัก เกิดจากเส้นเอ็นรอบๆ ข้อพลิกระหว่างเหยียดหรืองอข้อต่อ

สำหรับคนที่ชอบหักข้อนิ้วมือเพื่อให้เกิดเสียงนั้น จากการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ประชากรร้อยละ 25 - 50 ชอบหักข้อนิ้วให้เกิดเสียงก๊อบแก๊บ โดยข้อกลางนิ้วและข้อโคนนิ้วเป็นข้อที่นิยมหักมากที่สุด ส่วนข้อปลายนิ้วและข้อโคนนิ้วโป้งไม่ค่อยมีการหัก และพบว่านิสัยชอบหักนิ้วยังสัมพันธ์กับผู้ที่มีอาชีพใช้แรงงาน ชอบกัดเล็บ สูบบุหรี่และดื่มสุราจัด

 

หักข้อนิ้วมือ อันตราย!

จากการศึกษาเปรียบเทียบผู้ที่มีข้อนิ้วเสื่อมกับคนปกติ พบว่า การหักข้อนิ้วมือไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อนิ้วเสื่อม โดยข้อที่เสื่อมมักเป็นข้อปลายนิ้วซึ่งไม่ค่อยโดนหัก นอกจากนี้จำนวนครั้งในการหักนิ้วก็ไม่สัมพันธ์กับการเกิดโรคข้อนิ้วเสื่อม แต่ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดข้อนิ้วเสื่อม ได้แก่ อายุ โดยอายุที่มากขึ้น จะเพิ่มโอกาสเกิดข้อเสื่อมมากขึ้น และหากมีคนในครอบครัวเป็นโรคข้อนิ้วเสื่อมก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น

แม้ว่าการหักข้อนิ้วจะไม่ทำให้ข้อนิ้วเสื่อมมากขึ้นแต่ก็มีการศึกษาหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การหักข้อนิ้วมือบ่อยๆ มีผลต่อการทำงานของนิ้วมือ โดยจะทำให้เอ็นรอบข้อไม่แข็งแรงและส่งผลให้กำลังในการบีบมือลดลงรวมถึงทำให้ข้อต่าง ๆ และมือเกิดอาการบวมได้ง่ายกว่าปกติ

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การหักนิ้วอาจจะทำให้เอ็นขาด เป็นการทำลายข้อ มีแคลเซียมมาเกาะที่เอ็นรอบข้อมากขึ้น ดังนั้นการหักข้อนิ้วเป็นประจำจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำค่ะ

 

เสียงในข้อส่ออันตราย

เสียงก๊อบแก๊บ กรอบแกรบ มีอันตรายหรือไม่ มีวิธีสังเกตง่ายๆ ดังนี้ค่ะ

1. สังเกตว่ามีอาการเจ็บหรือปวดหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้งานข้อ เช่น การเดินลงน้ำหนัก งอหรือเหยียดข้อ หากมีอาการเจ็บปวดอาจเกิดจากข้อเสื่อมหรือเอ็นอักเสบ ควรไปพบแพทย์

2. สังเกตข้อที่มีเสียงนั้นว่ามีการบวมรอบ ๆ ข้อหรือไม่หากมีอาการบวมและแดง ก็ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะอาจจะเป็นโรคข้ออักเสบได้

3. สังเกตว่ามีการผิดรูปของข้อหรือไม่ เช่น ข้อโตขึ้น ข้อโกงขึ้น มีก้อนหรือกระดูกแข็งยื่นออกมาก็ควรไปพบแพทย์เช่นกัน
เรามาเริ่มดูแลข้อโดยการสังเกตและฟังเสียงจากข้อของเรากันเถอะค่ะ

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

แหล่งที่มา คอลัมน์บทความ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 403