วิธีฝึกจิต เพิ่มไอคิว สู้งานหนักป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัย

วิธีฝึกจิต เพิ่มไอคิว สู้งานหนักป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัย

วิธีฝึกจิต เพิ่มไอคิว สู้งานหนักป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัย

เพิ่มไอคิว การดูแลสุขภาพสมองไม่ให้เสื่อมก่อนวัย จนกลายเป็นโรคความจำเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสความสนใจ แต่ขณะเดียวกันการเพิ่มพลังสมองเพื่อเพิ่มสติปัญญา ความฉลาด หรือ เพิ่มไอคิว ก็เป็นเรื่องที่ทุกคนปฏิเสธไม่ได้ว่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทั้งด้านการศึกษา หน้าที่การงาน รวมไปถึงการจัดการความสัมพันธ์ภายในครอบครัว

 

ชีวจิต จึงศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากหนังสือภาษาต่างประเทศด้านวิทยาศาสตร์ด้านสมอง 2 เล่มที่กำลังได้รับความนิยม คือ Idiot Brain ของนักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง ดีน เบอร์เน็ต และ Unleash the Power of the Female Brain ของนายแพทย์เดเนียล จี. เอเมน แล้วสรุปมาบอกเล่าให้ฟังว่า อะไรคือปัจจัยที่ทำให้แต่ละคนดึงศักยภาพของสมองตนเองมาใช้ได้ไม่เท่ากัน

 

3 เหตุผลที่คนฉลาดไม่เท่ากัน

ดีน เบอร์เน็ต นักวิทยาศาสตร์ด้านสมอง กล่าวว่าเราสามารถดูการทำงานของสมองซึ่งเชื่อมโยงกับความฉลาดด้วยผล FMRI หรือ Functional Magnetic Resonance Imaging ซึ่งเป็นการวัดแบบเดียวกับการตรวจคลื่นสมอง หรือ MRI ดังนี้

 

1. การไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงสมองส่วนนั้นๆ

โดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำงานหนัก ฉะนั้นผล FMRI ที่ออกมาจะเห็นว่าสมองส่วนไหนตื่นตัวตลอดเวลา เช่น ถ้าต้องใช้ความจำบ่อยๆ สมองส่วนที่เกี่ยวกับความจำก็จะตื่นตัวมากกว่าส่วนอื่น

 

2. การทำงานเชื่อมโยงของสมอง 

เพราะโดยธรรมชาติสมองไม่ได้ทำงานส่วนใดส่วนเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกันหลายๆ ส่วน โดยส่วนที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงการทำงานของสมองคือส่วนที่เรียกว่า Prefrontal Cortex และ Parietal Lobe ฉะนั้นหากการทำ FMRI เห็นว่าสมองส่วนนี้ตื่นตัวมาก (เพราะต้องทำการสื่อสาร ประมวลข้อมูล คำนวณ ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจ) หมายความว่า การเชื่อมโยงของสมองส่วนต่างๆ เป็นไปด้วยดี

 

3. ความหนาของสมองส่วนที่เรียกว่า Corpus Callosum

ซึ่งทำหน้าที่เป็นสะพานระหว่างสมองด้านขวากับสมองด้านซ้าย หากหนามากก็จะทำให้สมองทั้งสองด้านสามารถสื่อสารกันได้ดีขึ้น นั่นหมายความว่า หากส่วนของความจำใน Parietal Lobe มีมาก และส่วน Prefrontal Cortex ก็นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถแก้ปัญหายากๆ ในชีวิตได้ดีกว่า

 

อย่างไรก็ตาม หากการทำงานของสมองยังไม่สมบูรณ์ครบถ้วนในแบบที่คนฉลาดควรเป็น นอกจากอาหารการกินนานาที่เราแนะนำเสมอ เรายังมีวิธีฝึกจิต เพิ่มพลังสมอง เพื่อสู้งานหนักและป้องกันอัลไซเมอร์ก่อนวัยมาฝาก

 

 

จิตสั่งสมอง สมองสั่งจิต

การเคลื่อนไหวร่างกายเป็นประโยชน์ต่อสมอง เพราะเส้นประสาทอัตโนมัติในกระดูกสันหลังช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวโดยไม่ต้องใช้ความคิดหรือจิตสำนึกใด เช่น การเดิน (จึงทำให้มนุษย์เดินละเมอตอนหลับได้) ที่ทำให้เราเดินหนีเหตุการณ์อันตราย หรือเดินไปหาของกินได้ คุณดีน กล่าวว่า “สมัยก่อนยุคหินที่มนุษย์ขึ้นจากน้ำมาอาศัยอยู่บนพื้นดิน เพื่อให้ได้ออกซิเจนเพียงพอ ก็เพราะประสาทอัตโนมัตินี่แหละ

 

“เรื่องการเมารถ เมาเรือ หรืออาการข้างเคียงจากการเดินทางไกล ล้วนมาจากการทำงานของประสาทอัตโนมัติ เนื่องจากการเดินทางโดยยานพาหนะที่เคลื่อนที่อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ หรือ เครื่องบิน โดยที่เรานั่งนิ่ง ๆ อยู่ในยานพาหนะนั้น ๆ ล้วนเป็นการหลอกประสาทอัตโนมัติ หมายความว่า เป็นการเคลื่อนที่แบบที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนที่”

การทำงานของสมองที่สำคัญอย่างหนึ่งสำหรับคนรักสุขภาพคือ การกิน เมื่อเราอิ่ม กระเพาะอาหารขยายเพียงพอ จะส่งสัญญาณไปบอกสมองว่า หยุดกินได้แล้วโดยระบบย่อยอาหารมีส่วนเพียงกระจิริดต่อความอิ่มหรือหิว…สมองต่างหากที่เป็นตัวควบคุม

 

ครั้นเวลาหิว ฮอร์โมนเกรลินในกระเพาะอาหารจะเพิ่มความรู้สึกอยากอาหาร ขณะที่ฮอร์โมนเปปไทด์ในไขมันจะลดความอยากอาหารเวลาเราต้องการลดน้ำหนัก เราจึงเพิ่มอาหารที่ช่วยสร้างฮอร์โมนเปปไทด์ลงไปเพื่อให้รู้สึกไม่อยากอาหาร แต่กระบวนการนี้มักล้มเหลวเพราะลืมคิดถึงสมองซึ่งเป็นอวัยวะที่เป็น

 

ปัจจัยสำคัญต่อความหิวและอิ่ม

นั่นคือ สมองจะเรียนรู้ว่าถูกกระตุ้นอย่างรวดเร็ว และพร้อมจะละเลยการกระตุ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน ฉะนั้นการฝึกจิตใจร่วมด้วยจึงมีส่วนเพิ่มประสิทธิภาพของสมองได้

 

 

จดจ่อดี สมองใส ไอคิวเพิ่ม

ทุกคนต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต จึงทุ่มเทเวลาไปกับการทำสิ่งต่าง ๆ มากมาย ทว่าเมื่อถึงวัยหนึ่งก็พบว่า เราเสียเวลาและพลังงานไปอย่างสูญค่า นั่นเป็นเพราะเราพูด คิด และกระทำไปอย่างไม่มีหลักการ โดยปล่อยให้จิตใจถูกอารมณ์ควบคุมอยู่เนืองๆ และผลลัพธ์ที่ได้ก็ไม่ใช่ความสำเร็จอย่างที่ใจเราต้องการ

หนังสือ The Power of Concentration เขียนโดย ธอรอน คิว. ดูมอนต์ กล่าวว่า  “คนเราอาจไม่ต้องเป็นอัจฉริยะหรือเก่งฉกาจมากมายนัก แต่การเรียนรู้และฝึกฝนการจดจ่อก็ช่วยให้เกิด ‘ความมหัศจรรย์’ในชีวิตขึ้น” และสิ่งนี้ก็ช่วยแบ่งเบาภาระของสมองไม่ทำให้สมองต้องทำงานหนัก และสามารถรักษาประสิทธิภาพของสมองไม่ให้หลงลืมหรือเป็นอัลไซเมอร์ก่อนวัย โดยใช้วิธีต่างๆ เหล่านี้

1. ฝึกเฝ้าดูสิ่งที่ตนเองกระทำ 

ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อจะได้ค่อยๆ ควบคุมความคิดและความรู้สึก และหากเฝ้าสังเกตการพูดและการกระทำของคนอื่นด้วยจะยิ่งดี เพราะจะเป็นการช่วยเราทางอ้อมให้ค่อยๆ เข้าไปควบคุมการพูดและความรู้สึกของตนเองได้ ซึ่งนั่นเท่ากับการจดจ่อของเราเริ่มมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี เราจำเป็นจะต้องฝึกจิตใจให้สงบควบคู่ไปกับการเฝ้าดูดังกล่าวด้วยเนื่องจากจิตใจที่ว้าวุ่น หงุดหงิดง่าย เป็นตัวทำลายการจดจ่อ

 

2. จงเป็นคนที่มีจิตใจมั่นคง 

อย่าตื่นเต้น กระวนกระวาย หรือเปลี่ยนแปลงอารมณ์ง่าย เพราะเมื่ออารมณ์เปลี่ยน เส้นประสาทในร่างกายจะขึงตึงขึ้นมาโดยอัตโนมัติ และเมื่อเส้นประสาทไม่อยู่ในสภาวะปกติ เราจะสูญเสียการจดจ่อที่ต้องการไปทันที มีรายงานการวิจัยยืนยันว่า หากเราอยู่ในสภาวะจดจ่อต่อความคิดหรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เซลล์ล้านกว่าเซลล์ในร่างกายของเรา ซึ่งถูกควบคุมโดยสมองจะปล่อยนิวตรอนสีเทาที่มีพลังมากออกมาช่วยให้เราทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ฉะนั้นหากเป็นไปได้ จงเลี่ยงการทำงานหรือการออกกำลังกายที่ทำให้เกิดความตื่นเต้นหรือระบบประสาทตื่นตัวอย่างหนัก หากอาการนั้นเกิดขึ้นแล้ว ให้จดจ่ออยู่กับลมหายใจเข้า - ออกสักครู่จิตใจจะค่อยๆ สงบลงและกลับมาสู่การจดจ่อได้

 

3. ทำทีละอย่าง 

เธอรอนเขียนไว้ในหนังสือว่า “ทำงานเมื่อทำงาน เล่นเมื่อเล่น” วิธีนี้ไม่ต่างจากการ “อยู่กับปัจจุบัน” ตามแบบพุทธศาสนาที่เราได้รับการอบรมสั่งสอนมา โดยวิธีตามหลักพุทธจะลึกซึ้งและละเอียดอ่อนกว่าตรงที่จำเป็นต้อง “รู้ตัวทั่วพร้อม” ด้วย เธอรอนกล่าวว่า หากเราอยู่กับสิ่งที่เรากระทำอยู่

ณ เวลานั้น เท่ากับได้อยู่กับ “ความเป็นจริง” ของตัวเอง จงฝึกเริ่มงานตอนเช้าในเวลาเดียวกันทุกวัน ระบบประสาทในร่างกายจะเริ่มพัฒนาสู่การจดจ่อในการทำงานโดยอัตโนมัติ

ตรงกันข้ามหากไม่สามารถตั้งเวลาแน่นอนในการทำงานได้พัฒนาการการจดจ่ออาจล้มเหลว ฉะนั้นเมื่อเริ่มทำงานในวันใหม่สมองจึงต้องใช้พลังงานในการเซตตัวเองซึ่งเป็นการเปลืองพลังงาน

 

4. ออกกำลังระบบประสาทและกล้ามเนื้อ

เพราะจิตใจสัมพันธ์กับระบบประสาทและกล้ามเนื้อฉะนั้นการฝึกออกกำลังกายช้า ๆ เพื่อให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อมีความมั่นคงไม่ถูกกระตุ้นให้ตื่นเต้นได้ง่าย เช่น การยกน้ำหนักพิลาทีส โยคะ ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพการจดจ่อได้

 

 

5. มีความรู้สึกรักและเมตตาปราณีต่อสรรพสิ่ง 

ดูราวกับจะทำตัวให้เป็นนางฟ้า “แต่ถ้าเรามีแต่ความรู้สึกดีๆ อยู่ในใจ ร่างกายเราจะนำพาออกซิเจนไปเลี้ยงปอดและหัวใจได้ดีนอกจากนี้ความรักก็ทำให้จิตวิญญาณเบิกบาน หล่อหลอมบุคลิกภาพช่วยเรื่องการเข้าสังคม ยิ่งหายใจได้ลึกเท่าไร ก็ยิ่งได้พลังชีวิตและความเข้มแข็ง ซึ่งจะช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการจดจ่อและสร้างพลังในชีวิต” เธอรอนกล่าว

 

 

6. คิดอะไรเป็นอย่างนั้น 

ความคิดสร้างพลังจริงๆ พิสูจน์ได้จากการทดลองกับนักโทษที่กำลังจะถูกประหารชีวิต คืนก่อนวันประหารเขาถูกจับขังไว้ในห้องมืด โดยมีเครื่องวัดความดันและวัดอัตราการเต้นของหัวใจติดตัวอยู่ จากนั้นให้ผู้คุมกรีดขาเขาเบาๆ โดยไม่บอกขนาดแผล แต่บอกว่า หากเขาสามารถรอดจากความตายในคืนนี้ไปได้ จะได้รับการปล่อยตัว แต่ด้วยบาดแผลที่มองไม่เห็น จึงทำให้เขาหวาดกลัวจนเสียชีวิต เธอรอนกล่าวว่า เราทุกคนล้วนแวดล้อมด้วยความคิดสารพัดแบบ ทั้งดีและไม่ดี หากซึมซับความคิดลบในชีวิตประจำวันไว้จะทำให้เรามองโลกในแง่ร้ายและไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งดีๆ ที่กำลังทำอยู่ได้

 

นอกจากนี้ความคิดลบจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นลบและดึงดูดเพื่อนที่มีความคิดลบ ตรงกันข้าม ความคิดบวกจะสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นบวกและดึงดูดเพื่อนที่มีความคิดบวก ซึ่งจะส่งเสริมพลังในการจดจ่อกับสิ่งดีๆ ที่กำลังทำอยู่

 

 

หยุดคิดลบ เพิ่มพลังสมอง บู๊สต์ไอคิว

จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วย ที่มีปัญหาครอบครัวและความสัมพันธ์มามากกว่าหมื่นราย ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา คุณหมอแดเนียลสรุปว่า ความคิดลบมี 9 แบบ ดังนี้

 

1. คิดด้วยความรู้สึก

ปกติเราสามารถรับรู้ความรู้สึกของคนอื่นได้แต่ถ้าเอาแต่รับรู้ความรู้สึกลบๆ แล้วนำมาขยายต่อ เช่น “ฉันรู้สึกว่าเขาไม่ชอบฉัน” ซึ่งบางทีก็ไม่จริง เพราะความรู้สึกมักหลอกเรา เมื่อเรารู้สึกเหนื่อย หิว กังวลกับอะไรบางอย่าง หรือกำลังอยู่ในภาวะเครียดสมองจะหลั่งสารเคมีบางอย่างออกมา SOLUTION อย่าให้ความรู้สึกในทางลบแบบนี้กำหนดความคิดของเรา ถ้าเกิดขึ้นให้เขียนลงสมุด และหาเหตุผลว่าทำไมเราจึงคิดเช่นนี้

 

2. รู้สึกผิด

เมื่อเรานึกถึงเรื่องราวบางอย่างแล้วคิดว่ามันน่าจะ ควรจะ หรือจะต้อง เรากำลังเริ่มกระบวนการโยนความผิดให้ตนเอง แล้วโดยเฉพาะคนที่ชอบยกความต้องการของคนอื่นขึ้นมาก่อนความต้องการของตนเอง เมื่อต้องทำเพื่อตนเองบ้าง ก็จะรู้สึกผิดความจริงเราควรทำเพื่อคนอื่นบ้างจึงถูกต้องแต่อย่ารู้สึกไม่ดีเมื่อต้องทำเพื่อตนเอง SOLUTION ลองชั่งใจว่า ควรทำอะไรให้ใครก่อนหรือหลังสิ่งที่ตนเองต้องการโดยพยายามทำใจให้สบายก่อนตัดสินใจ

 

3. คาดเดาอนาคตเอง

เมื่อเราคาดเดาอนาคต ปกติมักจะเป็นไปในทางลบเสมอ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้น หัวใจจะเต้นแรง ลมหายใจจะสั้นและตื้น ต่อมอะดรีนัลจะหลั่งอะดรีนาลินและคอร์ติซอลออกมาระดับความเครียดจะพุ่งสูงขึ้น ในที่สุดก็มักจะลงเอยด้วยเรื่องลบอย่างที่คาดเดาไว้ SOLUTION ปกติถ้าเราคิดว่างานจะไม่สำเร็จ เรามักจะมีความกังวลหรืออารมณ์ไม่ดี ฉะนั้นเมื่อลงมือทำงาน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นนั่นแหละคืออุปสรรคขัดขวางความสำเร็จ

 

4. อ่านใจคนอื่น

แม้เขาไม่พูดออกมา แต่เราก็เชื่อว่า เรารู้ว่าเขาคิดอะไร เช่นทำหน้าแบบนี้แปลว่าไม่ชอบเราแหง ซึ่งนั่นอาจจะมาจากสาเหตุอื่นเช่น มีปัญหาเรื่องงานมา SOLUTION ฉะนั้นจงอย่าให้การอ่านใจคนในทางลบเป็นตัวกำหนดสถานการณ์ แม้ว่าการอ่านใจคนอื่นได้เป็นเรื่องดี แต่ต้องระมัดระวัง

 

5. ลากสถานการณ์วนมาเข้าตัว

หลายคนโดยเฉพาะผู้หญิงมักคิดว่า หากสามีกลับบ้านผิดเวลาหรือไม่โทร.หา หมายความว่า เขาลดความรักที่มีต่อเราลงแล้ว ทั้งที่ความจริงสาเหตุของเรื่องดังกล่าว อาจไม่เกี่ยวกับเราเลยก็ได้คุณหมอแดเนียลเล่าเรื่องผู้ป่วยคนหนึ่งที่กล่าวว่า การสอบตกของลูกสาววัยอุดมศึกษาเป็นความผิดของตนเพราะไม่มีเวลามากพอในการติวให้ลูก ทั้งที่ความจริงการสอบได้หรือสอบตกในเด็กวัยนี้ล้วนเป็นความรับผิดชอบของตัวเด็กเอง

 

6. คิดว่าสิ่งนี้มักเกิดขึ้นเสมอ

เมื่อไรก็ตามที่เราคิดรวบยอดเบ็ดเสร็จว่า “บ่อยไป” “ไม่มีทาง” “ไม่มีใคร” “ทุกคนนั่นแหละ” “ตลอดเวลาเลย” เช่น เขาไม่เคยฟังฉันเลย ทุกคนมีทางไปยกเว้นฉัน เท่ากับว่าจิตใจของเรากำลังขังเราไว้กับความรู้สึกลบ ซึ่งจะทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่

 

7. จดจ่ออยู่แต่เรื่องร้าย

ปกติผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตมักจะรู้ว่า มีโอกาสเกิดทั้งเรื่องดีและร้ายในเวลาเดียวกัน แต่การจดจ่ออยู่แต่เรื่องร้าย เช่น กลัวว่าทำเช่นนี้แล้วจะมีอะไรร้ายๆ แบบนี้เกิดขึ้น นั่นจะทำให้เรายิ่งรู้สึกแย่ SOLUTION คนเราควรคิดถึงผลลัพธ์ที่ดีที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย สมองปลอดโปร่ง ซึ่งจะช่วยให้เราตัดสินใจหรือแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นอย่างมีสติและปัญญา หรือหากต้องหาคนช่วยสมองที่ปลอดโปร่งก็จะช่วยให้เราเลือกคนที่ถูกต้องมาร่วมงานด้วย

 

8. การตราหน้า

การนิยามตนเอง คนอื่น หรือสถานการณ์ในทางร้าย เช่น เขาโง่ฉันปัญญาอ่อน นโยบายเฮงซวย ไม่ทำให้สมองคิดวิเคราะห์คนหรือสถานการณ์ตามความเป็นจริง จึงอาจทำให้ผลลัพธ์ออกมาผิดพลาดได้

 

9. โทษคนอื่น

การกล่าวโทษคนอื่นหรือสถานการณ์ที่นำพาผลร้ายหรือความไม่สำเร็จในหน้าที่การงานมาสู่ตนเองนั้น เป็นความคิดลบที่อันตรายที่สุดในบรรดาความคิดลบทั้งหมด เพราะวิธีคิดนี้จะปิดบังไม่ให้เราเห็นข้อผิดพลาดของตนที่จะนำไปสู่การปรับปรุงพัฒนาตนเอง SOLUTION เมื่อสถานการณ์ไม่ชอบมาพากลเกิดขึ้น ให้มองหาทางแก้ปัญหาหรือสิ่งที่ตนเองสามารถทำได้ เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย

 

 

 

รู้จักสมอง จัดการตนเอง ไอคิวพุ่ง

ปกติสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นทำงานเกี่ยวข้องกับอุปนิสัยใจคอโดยตรง โดยเป็นตัวกำหนดหรือช่วยลดละอารมณ์ต่าง ๆคุณหมอแดเนียลอ้างถึงผลการตรวจ FMRIที่พบว่า หากบริเวณสมองส่วนหน้าไม่ค่อยทำงาน นั่นหมายความว่า คนคนนั้นมีปัญหาเกี่ยวกับความกังวลใจ ความกดดัน การเรียนรู้ช้า และการเสพติดพฤติกรรมบางอย่างซึ่งต้องได้รับการแก้ไข

ฉะนั้นหากผู้อ่านต้องการรู้ว่า สิ่งที่ตนเองเป็นอยู่ทุกวันนี้ต้องได้รับการแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ให้ลองเช็กลักษณะการทำงานของสมองทั้ง 5 แบบนี้ดูค่ะ

 

1. บุ่มบ่าม ทำทันที 

คนที่มีสมองลักษณะนี้จะไม่ค่อยคิดหน้าคิดหลังก่อนพูดหรือลงมือทำ จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนคอร์เท็กซ์ทำงานน้อยเกินไป จึงไม่เกิดการยับยั้งก่อนการตัดสินใจที่ผิดพลาด คนที่มีลักษณะสมองแบบนี้มักเป็นคนที่มีความวิตกกังวลและความเครียดสูง

BRAIN BREAKER

จากการวิจัยพบว่า มีสารโดพามีนในสมองน้อยเกินความต้องการ จึงควรเพิ่มการกินโปรตีน ลดการกินคาร์โบไฮเดรตกินอาหารเสริมประเภทชาเขียว โสม และอาหารที่มีคุณสมบัติสร้างสมดุลการทำงานของต่อมไทรอยด์

 


2. ฟุ้งซ่าน ไม่กล้าลงมือ 

คนที่มีสมองลักษณะนี้มักปล่อยให้ความคิดลบและปัญหาต่างๆ ในอดีตเข้ามาเป็นอุปสรรคขัดขวางการทำสิ่งต่างๆ โดยมักแสดงออกด้วยอาการนอนไม่หลับ จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนคอร์เท็กซ์ทำงานมากเกินไป จนทำให้สมองหยุดสั่งการให้มองไปข้างหน้าเนื่องจากขาดสารเซโรโทนิน โดยพบว่ากาเฟอีนจะทำให้อาการแย่ลง

BRAIN BREAKER

คุณหมอแดเนียลแนะนำให้เติมเซโรโทนินให้สมองด้วยการกินอาหารที่มีเซโรโทนิน เช่น เต้าหู้ ปลาแซลมอน ถั่วต่างๆ สับปะรด หรือหากต้องการกินเซโรโทนินที่อยู่ในรูปแบบอาหารเสริมควรปรึกษาแพทย์ ***แป้งขาวและน้ำตาลก็เป็นแหล่งเซโรโทนินด้วยเหมือนกัน แต่อาหารประเภทนี้ส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว

 

 

3. บุ่มบ่าม ฟุ้งซ่าน 

คนที่มีสมองลักษณะนี้มักมีความสับสนอยู่ในตนเอง ยกตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบูลิเมียที่มีอารมณ์สองขั้ว เดี๋ยวกล้าเดี๋ยวกลัว เดี๋ยวอยากเดี๋ยวไม่อยาก จากการทำ FMRI พบว่า สมองที่อยู่ด้านในติดกับแกนสมองทำงานเยอะเกินไป ทำให้ฟุ้งซ่านเพราะความคิดลบ ขณะเดียวกันสมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็ทำงานน้อย ทำให้ชอบทำโน่นทำนี่ที่ไม่ใช่สาระสำคัญ

BRAIN BREAKER

คนที่มีสมองลักษณะนี้ต้องเติมทั้งเซโรโทนินและโดพามีน พร้อมทั้งออกกำลังกาย รวมไปถึงอาหารเสริมที่ช่วยสมองทั้งสองส่วน การดื่มแต่ชาเขียวอย่างเดียวจะทำให้อาการแย่ลง

 

 

4. โศกเศร้า 

คนที่มีสมองประเภทนี้มักอยู่ในภาวะซึมเศร้า เครียด ไม่ค่อยมีกำลังใจ ไม่มีความมั่นใจในตนเอง และรู้สึกเจ็บปวดรวดร้าวตลอดเวลา จากผลการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ทำงานมากเกินไป

BRAIN BREAKER

การช่วยเหลือผู้ที่มีสมองแบบ “โศกเศร้า” ควรได้รับสารอาหารเพิ่มเติมดังนี้ วิตามินดี น้ำมันปลา รวมทั้งการออกกำลังกาย

 

 

5. กระวนกระวายใจ 

คนกลุ่มนี้มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ขี้กังวล ห่วงนั่นห่วงนี่ สังหรณ์ว่าจะเกิดแต่เรื่องร้ายๆ จากการทำ FMRI พบว่า สมองส่วนในที่เกี่ยวกับความกระวนกระวายทำงานมากเกินไป และสมองขาดสารเคมีที่เรียกว่ากาบา จึงทำให้เกิดภาวะที่ร่างกายตึงเครียดตลอดเวลา

BRAIN BREAKER

คุณหมอแดเนียลแนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินบี 6 เช่น ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ผักโขม กล้วย แมกนีเซียม เช่น ปลา ถั่วต่างๆ ธัญพืช ผักใบเขียว อะโวคาโด กล้วย โยเกิร์ต และกาบา เช่น ข้าวกล้อง อัลมอนด์ ถั่วเลนทิล บรอกโคลี กล้วย เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย และสามารถควบคุมความกระวนกระวายได้

 

สมองเป็นอวัยวะที่ซับซ้อน การฝึกฝนจิตใจ พร้อมการกินอาหารสุขภาพและการออกกำลังกาย จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาศักยภาพของสมอง เพื่อนำไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า และลดความเสี่ยงโรคสมองได้

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 441

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate