วิธีกินช่วยผู้ป่วย โรคไต แข็งแรง อายุยืน

วิธีกินช่วยผู้ป่วย โรคไต แข็งแรง อายุยืน

แม้ได้ชื่อว่าเป็น โรคไต เหมือนกันแต่ด้วยสภาวะของโรค

ที่แตกต่างทำให้ผู้ป่วยต้องกินอาหารแตกต่างกันออกไปด้วย

คุณหมออาจให้ผู้ป่วยบางรายจำกัดปริมาณโปรตีน เขาจึงกินเนื้อสัตว์หรือเนื้อปลาแทบจะนับคำ แต่คนไข้บางราย คุณหมอกลับย้ำนักย้ำหนาให้กินโปรตีนเพิ่มขึ้นกว่าเดิมเป็นเท่าตัว คิดแล้วน่าหวาดเสียว หากมีเพื่อนป่วยเป็นโรคไตแล้วกินตามกันโดยไม่ปรึกษาคุณหมอหรือนักกำหนดอาหารให้ดี อาจเสี่ยงเกิดโรคแทรกซ้อนและไตพังโดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว

ชีวจิต จึงอยากชวนผู้ป่วย โรคไต และผู้ดูแล มาเรียนรู้เรื่องการกินอาหารให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์และสภาวะโรคของผู้ป่วยแต่ละรายจาก คุณเอกหทัย แซ่เตีย นักกำหนดอาหาร หัวหน้านักวิชาการด้านโภชนาการสถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้กินอย่างสบายใจ สบายไต และปลอดภัยไปพร้อมกันค่ะ


ผู้ป่วยที่เป็นทั้ง โรคไต และโรคเบาหวาน

โรคเบาหวานนับเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ของโรคไตวายเรื้อรัง จึงพบว่าผู้ป่วย โรคไต ส่วนใหญ่เป็นโรคเบาหวานร่วมด้วย คุณเอกหทัยอธิบายจากประสบการณ์ว่า

“ถ้าผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ควบคุมอาหารหรือกินยาตามที่แพทย์สั่งเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใน 10 ปี จะเสี่ยงเป็นโรคไตเรื้อรัง 20 – 40 เปอร์เซ็นต์ และถ้ายังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมภายใน 20 ปีจะมีผู้ป่วยถึง 20 เปอร์เซ็นต์ที่ไตถูกทำลายจนมีอาการไตวายระยะสุดท้าย

“เมื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้ หลอดเลือดแดงขนาดเล็กก็จะหนาตัวขึ้น ถ้าหลอดเลือดแดงบริเวณไตหนาตัวขึ้น เลือดก็จะไปเลี้ยงไตได้น้อยลง ไตที่ขาดเลือดก็เหมือนขาดอาหาร เนื้อไตจะถูกทำลายและเสื่อมในที่สุด”

คุณเอกหทัยฝากเตือนถึงผู้ป่วยโรคเบาหวานว่า ให้ลดการกินอาหารหวาน เพิ่มผักผลไม้ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตตามมา แต่สำหรับผู้ที่เป็นโรคไตแล้ว เน้นว่าเป้าหมายสำคัญคือ ยืดอายุไตให้นานที่สุด โดยกินอาหารเพื่อชะลอความเสื่อมของไต ซึ่งจะช่วยให้เป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายช้าที่สุด

กินถนอมไต : เมื่อป่วยเป็นโรคไตแล้ว ควรใส่ใจเรื่องอาหารประจำวันมากขึ้น โดยคุณเอกหทัยแนะนำให้กินแบบ “4 ลด” เพื่อปกป้องไต คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม และลดเนื้อ มีรายละเอียดดังนี้

 

กินแบบลดหวาน 

คือ กินเพื่อรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย ควรจำกัดน้ำตาลนอกมื้ออาหารไม่ให้เกินวันละ 6 ช้อนชา และระวังน้ำตาลจากผลไม้รสหวานจัดและน้ำผลไม้

 

รูปภาพจาก pixels

 

นอกจากนี้ใยอาหารในผักทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการดูดซึมน้ำตาล จึงช่วยชะลอการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำตาลในเลือด จึงควรกินผักสุกมื้อละ 1 – 2 ทัพพี โดยเลือกผักที่มีแร่ธาตุโพแทสเซียมต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ร่างกายขับโพแทสเซียมออกได้น้อย ผักเหล่านั้น ได้แก่ผักกาดขาว เห็ดหูหนู บวบ กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ตำลึง หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ฟักเขียว กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก

 

รูปภาพจาก pixels

 

กินแบบลดมัน 

แนะนำให้กินน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชาเน้นให้เลือกอาหารที่ปรุงด้วยวิธีต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำ และเลือกเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้อปลา 

 

รูปภาพจาก pixels

 

หลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องใน เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ แหนม กุนเชียง

 

รูปภาพจาก pixels

 

 

กินแบบลดเค็ม 

มีเป้าหมายที่แท้จริงคือ กินเพื่อจำกัดปริมาณโซเดียมไม่ให้เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม ซึ่งปกติเราจะได้รับโซเดียมจากอาหารประจำวันที่ไม่เติมเครื่องปรุงใดๆ วันละประมาณ 800 มิลลิกรัมอยู่แล้ว ส่วนอีก 1,200 มิลลิกรัมเป็นโซเดียมในเครื่องปรุง คุณเอกหทัยอธิบายว่า

“กินไม่ให้เกินโควตา ต้องกินจืด คือใช้น้ำปลาหรือซีอิ๊วขาววันละไม่เกิน 3 ช้อนชา ทำได้โดยการงดพฤติกรรมกินไปปรุงไปปรุงอาหารก่อนชิม และลดการใช้เครื่องปรุงทุกชนิดลงจากเดิมที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปทุกชนิด เช่น อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผัก / ผลไม้ดอง หรือเนื้อสัตว์แปรรูป เช่น หมูหยอง หมูแผ่น หมูยอ กุนเชียง ไส้กรอก แหนม ไข่เค็ม ปลาเค็ม ปลาแดดเดียว

 

รูปภาพจาก pixels

 

“หากยังไม่สามารถกินอาหารรสจืดตามที่บอกได้ เริ่มต้นอาจใช้วิธีลดเครื่องปรุงลง 25 เปอร์เซ็นต์ก่อน เมื่อเริ่มคุ้นชินกับรสชาติจึงปรับลดลงอีก ค่อยๆ ตั้งเป้าหมายในการกินโซเดียมหรือลดเครื่องปรุงให้ได้ตามเกณฑ์ที่แนะนำ สุดท้ายใครก็สามารถกินจืดได้”

 

กินแบบลดเนื้อ 

รูปภาพจาก pixels

 

หรือลดโปรตีน เพื่อลดภาระการทำงานของไตจากการกรองของเสียหลังกินโปรตีน ดังนั้นกินโปรตีนมาก ไตยิ่งเสื่อมเร็ว แต่หากกินน้อยไปจนร่างกายไม่พอใช้ ร่างกายก็จะมีกลไกสลายโปรตีนจากกล้ามเนื้อมาใช้แทน สุดท้ายไตจึงจำต้องกรองของเสียปริมาณมากอยู่ดี คุณเอกหทัยอธิบายว่า

“ดังนั้นแนะนำให้กินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา 6 – 8 ช้อนแกงต่อวัน 

หลีกเลี่ยงนม โยเกิร์ต ชีส รวมถึงถั่วต่างๆ 

 

รูปภาพจาก pixels

 

และลดการกินข้าวแป้งในบางมื้อ โดยเปลี่ยนมากินวุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ซึ่งนอกจากมีโปรตีนต่ำ ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดีอีกด้วย”

 

ผู้ป่วยโรคไตที่กินมังสวิรัติ

 

รูปภาพจาก pixels

 

นายแพทย์โดนัลด์ เวสสัน (Donald Wesson) จาก The Texas A&M Health Science Center College of Medicine ผู้ทำงานวิจัยเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคไต ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยของเขาใน Journal of the American Society of Nephrology ยืนยันว่า

การกินผักและผลไม้ช่วยชะลอความเสื่อมของไตได้ โดยพบว่า ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่กินอาหารที่มีเนื้อสัตว์ปริมาณสูงทั้ง 3 มื้อ จะพัฒนาเป็นโรคไตวายระยะสุดท้ายมากกว่าผู้ป่วยที่กินอาหารที่มีผักและผลไม้ปริมาณสูง

นายแพทย์โดนัลด์อธิบายว่า หลังจากกินเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดงร่างกายจะเปลี่ยนโปรตีนเป็นกรด ไตจะผลิตสารที่ช่วยกำจัดกรด หากกรดมีปริมาณมาก ไตจะทำงานหนักและเสื่อมเร็ว นอกจากนี้อาหารที่มีผักและผลไม้สูงยังช่วยลดความดันโลหิต มีผลชะลอความเสื่อมของไต
ไม่เพียงเท่านี้ คุณเอกหทัยเสริมว่า “การกินอาหารที่มีผักเป็นส่วนประกอบหลัก เช่น อาหารมังสวิรัติ ไม่เพียงช่วยชะลอความเสื่อมของไตยังสามารถช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแทรกซ้อนจากโรคหัวใจ ภาวะโปรตีนรั่วในปัสสาวะ อีกด้วย”

 

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยย้ำข้อควรจำสำหรับชาวมังสวิรัติว่า 

“อาหารมังสวิรัติทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่เคร่งครัดกับการกินผักและผลไม้เพียงอย่างเดียว อาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน อีกทั้งโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเมล็ดแห้ง มีฟอสฟอรัสสูง ผู้ป่วยที่มีปริมาณฟอสฟอรัสในเลือดสูงอยู่แล้วอาจเสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

“จึงแนะนำให้กินโปรตีนจากผักให้หลากหลายเพื่อให้ร่างกายได้รับกรดแอมิโนจำเป็นครบถ้วน ส่วนโปรตีนจากแหล่งอื่น เช่น ไข่ขาว (กรณีกินอาหารมังสวิรัติชนิดกินไข่) โปรตีนเกษตร เต้าหู้ขาว นัตโตะ (ถั่วเน่าญี่ปุ่น) ควรกินอย่างน้อย 2 ใน 3 ของแหล่งโปรตีนทั้งหมด

“ควรเลือกผักและผลไม้ที่มีโพแทสเซียมต่ำ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง โดยกินผักมื้อละ 1 – 2 ทัพพี และผลไม้มื้อละ 1 – 2 จานรองถ้วยกาแฟ

“สำหรับผักที่แนะนำให้กิน เช่น ผักกาดขาว กะหล่ำปลี เห็ดหูหนู บวบ กวางตุ้ง ผักบุ้ง ตำลึง หอมหัวใหญ่ พริกหวาน ฟักเขียว กะเพรา โหระพา ใบแมงลัก มะละกอดิบ น้ำเต้า ส่วนผลไม้ เช่น สับปะรด แอ๊ปเปิ้ล มะม่วง มังคุด เงาะ สาลี่ สละ”

 

ผู้ป่วยที่ต้องการลดน้ำหนัก

ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า หากมีน้ำหนักเกินมาตรฐานการลดปริมาณอาหารประจำวันลงวันละ 500 กิโลแคลอรีสามารถลดน้ำหนักได้เดือนละ 1 – 2 กิโลกรัม แถมมีผลชะลอไตเสื่อมและลดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะด้วย

ทั้งนี้เพื่อให้เกิดผลดีในระยะยาว คุณเอกหทัยแนะนำให้ควบคุมอาหารร่วมกับการออกกำลังกาย เพราะการออกกำลังกายอย่างเหมาะสมไม่เพียงช่วยขับโซเดียมผ่านเหงื่อ ลดการทำงานของไตในการขับของเสีย ยังช่วยเพิ่มความไวในการทำงานของอินซูลิน ช่วยควบคุมและลดระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

 

กินถนอมไต : ไม่แนะนำให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจำกัดอาหารหรือลดความอ้วนโดยพลการ แต่ควรปรึกษาแพทย์และนักกำหนดอาหารให้ช่วยประเมินดัชนีมวลกาย รวมถึงความเสี่ยงเช่นการขาดสารอาหารจากการลดน้ำหนักร่วมด้วย

หากพบว่าดัชนีมวลกายสูงเกินมาตรฐาน สมควรที่ต้องลดน้ำหนัก นักกำหนดอาหารจะแนะนำอาหารตามสภาวะของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง โดยลดปริมาณพลังงานจากอาหารประจำวันของผู้ป่วยลงวันละ 500 กิโลแคลอรี วิธีลดพลังงานไม่จำเป็นต้องกินอาหารปริมาณน้อยลงเสมอไป เพียงลดน้ำตาลแล ไขมันในอาหารประจำวันก็สามารถช่วยลดน้ำหนักได้ ตามที่คุณเอกหทัยให้ข้อมูลว่า

“การควบคุมอาหารทำได้โดยลดขนมหวาน น้ำตาลหลีกเลี่ยงอาหารมัน อาหารทอด แกงกะทิ เนื้อสัตว์ไขมันสูง

 

รูปภาพจาก pixels

 

หันมากินอาหารแบบต้ม ตุ๋น นึ่ง ย่าง ยำแทน สำหรับใครที่หิวบ่อย บางมื้อสามารถเลือกนำแป้งปราศจากพลังงาน เช่น บุก หรือเส้นแก้ว (วุ้นเส้นสาหร่าย) มาปรุงอาหารก็ช่วยให้อิ่มท้องและช่วยให้น้ำหนักค่อยๆ ลดลงได้”

 

รูปภาพจาก pixels

 

คุณเอกหทัยเน้นว่า ผู้ป่วยโรคไตไม่ควรลดน้ำหนักอย่างหักโหม แต่ควรลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยควรลดน้ำหนักไม่เกินเดือนละ 2 กิโลกรัม คุณเอกหทัยยังเสริมว่า

“อย่าลืมออกกำลังกายแบบความหนักปานกลางร่วมด้วยเช่น การเดิน แกว่งแขน ปั่นจักรยาน เล่นยางยืด วันละ 30 – 60 นาที แต่ต้องระวังไม่ให้เหนื่อยเกินไป วิธีตรวจสอบง่ายๆ คือ ขณะออกกำลังกายสามารถพูดคุยเป็นประโยครู้เรื่อง แต่ถ้าถึงขนาดพูดไม่ออก หายใจไม่ทัน แสดงว่ออกกำลังกายหนักเกินไป”

 

รูปภาพจาก pixels

 

ผู้ป่วยที่ต้องการออกกำลังกาย  

รูปภาพจาก pixels

 

The National Kidney Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงประโยชน์ของการออกกำลังกายในผู้ป่วยว่า ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรงควบคุมความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอลร้ายในเลือด และช่วยให้หลับสบายแต่ทั้งนี้ก็มีข้อควรระวัง

คุณเอกหทัย เล่าถึงผู้ป่วยหลายรายที่เมื่อพบว่าตัวเองป่วยเป็นโรคไต ก็ปรับเปลี่ยนอาหารและหันมาออกกำลังกายอย่างหักโหม เพราะเข้าใจผิดคิดว่าการออกกำลังกายอย่างหนักจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น แต่แท้จริงผลกลับตรงข้ามคือ อาการของโรคไตยิ่งแย่ลง

“ผู้ป่วยโรคไตไม่สามารถออกกำลังกายหนักๆ ได้ เพราะจะทำให้กล้ามเนื้อสลายตัวเพิ่มขึ้น ระดับของเสียที่มีชื่อว่าครีเอตินีน (Creatinine) ในเลือดยิ่งเพิ่มขึ้น ไตจะยิ่งทำงานหนัก

“ไม่เพียงกล้ามเนื้อสลายจนร่างกายอ่อนแอ ที่ร้ายกว่าคือ ร่างกายผู้ป่วยจะได้รับพลังงานจากอาหารไม่เพียงพอ เพราะส่วนหนึ่งถูกเผาผลาญไปขณะออกกำลังกายอย่างหนัก ผู้ป่วยจะขาดทั้งอาหารซ่อมแซมร่างกายและมีของเสียในเลือดเพิ่มมากขึ้น เหมือนผู้ป่วยไม่ได้ดูแลสุขภาพและควบคุมอาหารเลย”

 

กินถนอมไต : สำหรับเรื่องอาหาร คุณเอกหทัยแนะนำให้กินเหมือนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังทั่วไป แต่อาจปรึกษานักกำหนดอาหารถึงวิธีกินเพื่อเพิ่มพลังงานในอาหาร อาจกินอาหารที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวตำแหน่งเดียว (Monounsaturated Fatty Acids) หรือเพิ่มปริมาณอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง โปรตีนต่ำ

คุณเอกหทัยอธิบายเสริมว่า

“ไม่มีข้อห้ามเรื่องอาหารเป็นพิเศษ มีแต่ห้ามออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาหนัก เพราะเป็นห่วงเรื่องระดับครีเอตินีนในเลือด

“ที่โรงพยาบาลมีผู้ป่วย 4 รายที่เล่นกีฬาหนักจนร่างกายอ่อนแอ ระดับของเสียในเลือดจึงเพิ่มขึ้น เราเพิ่มพลังงานในอาหารก็แล้ว ปรับทุกอย่างก็แล้ว สุดท้ายทั้งคุณหมอและนักกำหนดอาหารก็มีความเห็นตรงกัน เลือกให้คนไข้ลดการออกกำลังกายลง ผลที่ได้ดีขึ้นทันตา”

คุณเอกหทัยสรุปวิธีการออกกำลังกายของผู้ป่วยโรคไตว่า ผู้ป่วยโรคไตสามารถออกกำลังกายรูปแบบใดก็ได้ แต่ไม่ควรหักโหมหรือออกกำลังกายหนักจนเกินไป ควรควบคุมให้อยู่ในระดับปานกลาง คือ มีความหนักในระดับที่สามารถพูดคุยเป็นประโยคได้ขณะออกกำลังกาย และไม่มีอาการหอบเหนื่อย

“การออกกำลังกายแบบปานกลาง เช่น เดิน เต้นแอโรบิก ประมาณวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง หรือวันเว้นวัน โดยใน 1 วันแบ่งทำครั้งละ 10 นาที พบว่า สามารถช่วยให้การไหลเวียนเลือดที่ไตดีขึ้นเช่นกันเมื่อเลือดไหลเข้าตัวกรองดี การขับของเสียจากโปรตีนก็ดีขึ้นด้วย ของเสียในเลือดจะลดลงเป็น 2 เท่า ดังนั้นจึงอยากเน้นว่า ในผู้ป่วยโรคไตที่ต้องการออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความหนักปานกลาง และกินอาหารตามปกติของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง คือ ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม ลดเนื้อ

“ส่วนเรื่องการดื่มน้ำ ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการบวมก็สามารถดื่มน้ำเพิ่มขึ้นได้ 1 – 2 ลิตร แต่ถ้าเสียเหงื่อในปริมาณมาก อาจดื่มน้ำเพิ่มได้ถึง 3 ลิตร

 

รูปภาพจาก pixels

 

“ที่สำคัญคือ ไม่แนะนำให้ดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่ เพราะมีปริมาณโซเดียมสูง น้ำผสมน้ำผึ้งก็ไม่แนะนำเช่นกัน เพราะมีกรดยูริกสูง ยิ่งเร่งให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น ถ้าต้องการเพิ่มความสดชื่นให้ดื่มน้ำเย็นหรือน้ำหวานแทน”

 

ผู้ป่วยเด็กที่กำลังเจริญเติบโต

 

รูปภาพจาก unsplash

 

ปัญหาสำคัญของผู้ป่วยโรคไตที่อายุยังน้อยคือ มีการเจริญเติบโตช้ากว่าเด็กปกติ จำเป็นต้องดูแลเรื่องอาหารอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ

ที่สำคัญ ผู้ปกครองควรหมั่นตรวจเช็กพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กจากกราฟแสดงเกณฑ์อ้างอิงการเจริญเติบโตของเด็ก โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ว่าเป็นไปตามเกณฑ์หรือไม่ร่วมด้วย

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยเน้นว่า ผู้ป่วยเด็กมีความต้องการพลังงานและสารอาหารเหมือนในเด็กปกติ เพียงแต่ควรเป็นอาหารจากธรรมชาติที่ไม่ปรุงแต่งด้วยผงชูรส ผงปรุงรส หรือปรุงด้วยน้ำตาล น้ำปลา ซีอิ๊วขาวมากจนเกินไป แต่หากพบว่าน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ควรให้เด็กกินอาหารเพิ่มขึ้นเพื่อให้มีพัฒนาการเช่นเดียวกับเพื่อนในวัยเดียวกัน 

“ผู้ปกครองควรให้เด็กกินอาหารว่างเพิ่มขึ้น หรือหากลูกเป็นเด็กกินยาก อาจใช้วิธีเพิ่มน้ำมันคุณภาพดี ได้แก่ น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา น้ำมันมะกอก ลงในอาหาร สามารถทำเมนูได้หลากหลาย เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัด ผักทอด เพื่อให้เด็กได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นโดยไม่กระทบต่อปริมาณอาหาร

 

รูปภาพจาก pixels

 

“สำหรับผู้ป่วยเด็กที่ฟอกเลือดหรือต้องล้างไตทางช่องท้อง ควรปรับการกินโปรตีนให้เพียงพอกับปริมาณที่สูญเสียไปขณะฟอกเลือดหรือล้างไต โดยเพิ่มการกินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลาหรือไข่ขาวอีก

ประมาณ 20 – 50 เปอร์เซ็นต์จากเดิม ยกเว้นในเด็กอายุ 1 – 10 ขวบที่ฟอกเลือดผ่านทางช่องท้อง สามารถเพิ่มการกินเนื้อสัตว์ได้มากกว่าเดิมถึง 60 – 80 เปอร์เซ็นต์ โดยผู้ปกครองอาจเสริมในรูปแบบขนมโปรตีนสูง เช่น คัสตาร์ดไข่ขาว วุ้นไข่ขาว หรือของว่าง เช่น ขนมจีบ เกี๊ยวกุ้ง”

 

 

รูปภาพจาก pixels

ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตด้วยเครื่องไตเทียม

 

รูปภาพจาก unsplash

 

เมื่อไตเสื่อมจนเข้าสู่ไตวายระยะสุดท้าย คือไตไม่สามารถทำหน้าที่กำจัดของเสียได้อีกต่อไป จึงจำเป็นต้องใช้ไตเทียมทำหน้าที่ชะล้างของเสียที่คั่งค้างภายในร่างกายแทน อาจเลือกล้างไตโดยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ล้างไตผ่านทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) หรือผ่าตัดเปลี่ยนไต ในกรณีนี้จะกล่าวถึงการล้างไตที่ไม่รวมถึงการผ่าตัดเปลี่ยนไต

คุณเอกหทัยอธิบายว่า “สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมจะใช้วิธีดึงเลือดของผู้ป่วยที่เต็มไปด้วยของเสียต่าง ๆ ออกมาผ่านเข้าเครื่องไตเทียม เมื่อเลือดไหลผ่านตัวกรองของเสีย และเกลือแร่น้ำส่วนเกินในเลือดจะถูกกรองทิ้ง เหลือแต่เลือดดีไหลกลับเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วยอีกครั้ง แต่ระหว่างที่เลือดไหลไปเพื่อกรองของเสียสารโปรตีนในร่างกายของคนไข้จะถูกกรองทิ้งไปด้วย”

กินถนอมไต : โดยเฉลี่ยผู้ที่รับการฟอกเลือดจะมีการสูญเสียสารโปรตีนในรูปของกรดแอมิโนเฉลี่ยวันละ 27 – 39 กรัม หรือเทียบเท่ากับการกินไข่ขาว 8 – 12 ฟอง หากกินอาหารเหมือนก่อนฟอกเลือดอาจเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยขาดโปรตีน ดังนั้นในระยะนี้จึงต้องเปลี่ยนจากการจำกัดโปรตีนเป็นกินโปรตีนเพิ่มขึ้น โดยเพิ่มโปรตีนหรือเนื้อสัตว์จากเดิมอีกเท่าหนึ่ง หรือประมาณวันละ 12 – 18 ช้อนแกงส่วนผักผลไม้อื่นๆ แนะนำให้กินเหมือนช่วงก่อนเข้ารับการล้างไต

 

ไตวายเฉียบพลัน VS โรคไตเรื้อรัง

คุณเอกหทัยอธิบายการเกิดโรคไตว่า

“อันดับแรกควรเข้าใจว่าโรคไตมี 2 ลักษณะ คือ โรคไตวายเฉียบพลันและโรคไตเรื้อรัง หากได้ยินว่าคนใกล้ชิดเข้าโรงพยาบาลและเป็นโรคไตวายเฉียบพลันต้องเข้ารับการฟอกไตโดยด่วน ก็อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไตพังและต้องเข้ารับการฟอกไตตลอดชีวิตนะคะ

“เพราะโรคไตวายเฉียบพลันเกิดจากการที่ไตมีประสิทธิภาพในการทำงานลดลงชั่วคราว เมื่อคุณหมอค้นหาและแก้ไขสาเหตุที่ทำให้ไตไม่ทำงานเรียบร้อยแล้ว ส่วนใหญ่ไตจะฟื้นตัวและเริ่มทำงานเป็นปกติในเวลา 2 – 3 สัปดาห์”

คุณเอกหทัยอธิบายสาเหตุการเกิดโรคไตวายเฉียบพลันโดยสรุปว่าโรคไตวายเฉียบพลันจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเลือดไปเลี้ยงไตลดลง เช่น ผู้ที่เสียเลือดมากจากอุบัติเหตุ ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกมีความดันโลหิตต่ำ หรือเป็นผลข้างเคียงจากยาบางชนิด

โรคไตเรื้อรัง อาจารย์นายแพทย์อรรถพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้ข้อมูลว่า สาเหตุที่พบส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการเป็นโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หากผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้ จะส่งผลให้มีโรคแทรกซ้อนคือโรคไตเรื้อรัง ส่วนสาเหตุอื่น ได้แก่ โรคไตอักเสบเรื้อรังโรคนิ่วในไต หรือการใช้ยาซึ่งมีพิษต่อไต เช่น กินยาแก้ปวดติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน

คุณหมออรรถพงศ์อธิบายเสริมว่า หากรู้ตัวว่าเป็นโรคไตเรื้อรัง แต่ยังคงตามใจปาก ปล่อยให้เนื้อไตถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง ไม่นานจะกลายเป็นโรคไตวายระยะสุดท้าย ต้องเข้ารับการฟอกไตหรือรอรับ

บริจาคไตผู้ป่วยที่ล้างไตผ่านทางหน้าท้อง

การล้างไตผ่านทางหน้าท้องเป็นการขจัดของเสียในเลือดโดยใช้ผนังหน้าท้องของผู้ป่วย

เป็นตัวกรองแทนเครื่องไตเทียม น้ำยาซึ่งมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอยู่จะถูกใส่เข้าไปในช่องท้อง หลังจากนั้นน้ำยาจะดูดซึมของเสียจากเลือดออกมา ในขณะเดียวกันน้ำตาลบางส่วนที่อยู่ในน้ำยาก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย หลังครบกำหนดเวลาก็จะปล่อยน้ำยาที่มีของเสียออกจนหมด แล้วจึงเริ่มใส่น้ำยาใหม่เข้าไปในช่องท้องอีกครั้ง ทำทุกวันวันละ 4 – 6 ครั้ง

 

กินถนอมไต : คุณเอกหทัยแนะนำว่า “การล้างไตวิธีนี้ทำให้โปรตีนประมาณ 20 – 30 กรัมและเกลือแร่บางชนิดถูกกำจัดทิ้งตลอดเวลาพร้อมกับของเสียในเลือด ผู้ป่วยจึงเสี่ยงมีระดับโปรตีนไข่ขาวและโพแทสเซียมในเลือดต่ำกว่าเกณฑ์ นอกจากนี้น้ำยาล้างไตที่มีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบอาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง” 

คุณเอกหทัยจึงแนะนำให้ผู้ที่ล้างไตผ่านทางช่องท้องกินเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อปลา หรือ ไข่เพิ่มขึ้นจากเดิมหนึ่งเท่า เช่นเดียวกับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 

 

รูปภาพจาก unsplash

 

และควรกินผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย ส้ม มะละกอ ฝรั่ง แตงโม แก้วมังกร มะขาม เสาวรส ผลไม้อบแห้งต่างๆ วันละ 2 – 3 จานรองถ้วยกาแฟ

 

รูปภาพจาก pixels

 

และกินผักที่มีโพแทสเซียมปานกลางถึงสูงอย่างน้อยมื้อละ 2 ทัพพี เช่น คะน้า แครอต ถั่วฝักยาว บรอกโคลี มะเขือเทศ มะระ ฟักทอง กะหล่ำปลีสีม่วง

 

รูปภาพจาก pixels

 

ส่วนผู้ที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอาจลดการกินข้าวลงจากเดิม เพิ่มการกินผัก และหลีกเลี่ยงนํ้าหวาน ของหวาน และขนมหวานต่างๆ ที่สำคัญคือผู้ป่วยยังต้องกินอาหารรสจืดเช่นเดิม

ไม่มีคำว่าสายเกินไปในการดูแลสุขภาพ เพียงปรับเปลี่ยนอาหาร ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ เท่านี้ก็อยู่กับโรคไตได้อย่างมีความสุขตราบนานเท่านาน

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate

 

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 408