HOW – TO หยุดสัญชาตญาณ ติดหวาน มัน เค็ม

HOW – TO หยุดสัญชาตญาณ ติดหวาน มัน เค็ม

ติดหวาน มัน เค็ม ทำป่วย ทางตอนเหนือของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา

มีรีสอร์ตเพื่อสุขภาพเล็กๆ แห่งหนึ่งชื่อ “ทรูนอร์ท” มีวิธีช่วยคนให้เอาชนะโรคเรื้อรังของตัวเองด้วยการเปลี่ยนอาหาร โดยเริ่มจากการอดอาหารก่อน อดจริงๆ เพราะให้ดื่มแต่น้ำเปล่า แล้วไม่ใช่แค่วันสองวันนะ บางคอร์สอดอาหารนานถึงเดือนครึ่ง

 

ผมรู้จักรีสอร์ตแห่งนี้เพราะมีเพื่อนอยู่ที่นั่นหลายคน คนหนึ่งชื่อ ดักลาส ไลซ์ เป็นนักจิตวิทยา เขามีแนวคิดของตัวเองและเขียนหนังสือชื่อว่า กับดักความเพลิน (Pleasure Trap)

 

โดยตั้งสมมุติฐานว่าสัญชาตญาณของมนุษย์และสัตว์ที่ถ่ายทอดมาทางพันธุกรรมนั้น คือ การมุ่งเสาะหาอาหารเพื่อยังชีพและมีเซ็กซ์เพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ โดยพันธุกรรมได้มอบความเพลิน (Pleasure) เป็นสิ่งตอบแทน ซึ่งการเสาะแสวงหาความเพลินนี้จะใช้วิธีที่เปลืองแรงหรือเปลืองพลังงานน้อยที่สุด

 

เขาเล่าถึงงานวิจัยเรื่องหนึ่งที่ทำการทดลองโดยขังนกไว้ในกรงที่มีปุ่มให้นกจิกสองปุ่ม จิกปุ่มน้ำเงินแล้วประตูกรงจะเปิดให้นกบินออกไปเป็นอิสระ มันจะบินไปหาหนอนกินและหาตัวเมียเพื่อมีเซ็กซ์ ส่วนปุ่มสีแดงนั้น เมื่อนกจิกแล้วประตูกรงอีกด้านหนึ่งจะเปิดออกไปอีก กรงหนึ่งซึ่งมีตัวเมียรออยู่และมีหนอนให้กินด้วย พบว่า หลังจากเรียนรู้เพียงครั้งเดียว นกก็เจาะจงจิกแต่ปุ่มสีแดงไม่สนปุ่มสีน้ำเงินอีกเลย

 


อีกการทดลองหนึ่งได้เปลี่ยนปุ่มสีน้ำเงินเป็นกรงที่มีโคเคน ส่วนปุ่มสีแดงเป็นกรงที่มีนกตัวเมียและตัวหนอน ก็พบว่า เมื่อเรียนรู้ความแตกต่างของปุ่มทั้งสองแล้ว นกเลือกจิกปุ่มสีน้ำเงินซ้ำซากด้วย

 

ความพอใจที่ได้เสพโคเคน โดยไม่สนตัวเมียและไม่สนแม้กระทั่งอาหาร มันตั้งใจจิกปุ่มสีน้ำเงินซ้ำซากเพื่อจะได้เสพโคเคนจนตัวมันเองต้องตายไปเพราะขาดอาหาร

 

ดักลาสเล่าเกี่ยวกับงานวิจัยนี้ว่า เขาไปเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมของนก แต่นกยังใช้หลักชีวิตเดิม คือมุ่งหาความเพลินที่ออกแรงน้อยที่สุด โดยไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมได้เปลี่ยนไป ซึ่งถ้ามันยังใช้หลักชีวิตเดิมสัญชาตญาณเดิมของมันจะฆ่าตัวมันเอง

 

เขาพูดว่าเป็นเรื่องเดียวกับที่แมลงบิน เช่น หลอดไฟ เพราะสัญชาตญาณของแมลง ต้องบินเข้าหาแหล่งกำเนิดแสง เพื่อพามันไปสร้างชีวิตใหม่ในที่ที่ไกลจากเดิมซึ่งในธรรมชาติแหล่งกำเนิดแสงคือดวงจันทร์ แต่เมื่อเห็นหลอดไฟมันจะบินไปชนตามสัญชาตญาณเดิม แม้ว่าจะชนหลอดไฟครั้งแล้วครั้งเล่าจนตัวมันตายก็ตาม

 

งานวิจัยทางการแพทย์เรื่องการหลั่งสารโดพามีน (Dopamine) ในส่วนต่างๆ ของสมองพบว่า ความเพลินเกิดขึ้นเมื่อสมองบริเวณเบซอลแกงเกลียและพอนส์ (Pons) หลั่งสารโดพามีนออกมามาก ในทางการแพทย์เรียกสมองบริเวณนั้นว่า ศูนย์ความเพลินหรือ Pleasure Center ในการใช้ชีวิตปกติของมนุษย์ ทำให้เกิดความเพลินบ้างไม่เพลินบ้าง โดยความเพลินหลักคือการกินอาหารและมีเซ็กซ์นั่นแหละ ถือเป็นความเพลินในระดับธรรมดาๆ ไม่หวือหวา แต่สารเสพติด เช่น โคเคน เฮโรอีน ทำให้เกิดความเพลินในระดับเอกซ์ตร้า เพราะกระตุ้นการหลั่งโดพามีนในสมองแบบรวดเร็วโดยไม่ต้องออกแรงเสาะหามากมาย

 

มีอีกสองกิจกรรมที่อาจจะก่อให้เกิดการหลั่งสารโดพามีนมากแบบนั้นได้คือ การออกกำลังกายให้ถึงระดับหนักและการนั่งสมาธิให้ถึงระดับลึกซึ่งต้องเหนื่อยยาก และฝึกฝนกันนานกว่าจะทำได้ คนที่ได้เสพโคเคนหรือเฮโรอีนจึงไม่สนความเพลินอย่างอื่นแล้ว แม้แต่เซ็กซ์ก็ไม่สนเพราะต้องเสียเวลาออกแรงกว่าจะได้ความเพลินแต่ยาเสพติดนี่เป็นความเพลินแบบเอกซ์ตร้า (Extra) ที่ได้มาแบบไม่ต้องออกแรง

 

งานวิจัยพบว่า อาหารที่สกัดหรือขัดสีและกากใยออกไปจนได้แคลอรีเข้มข้น เช่น น้ำมันและความหวาน สามารถกระตุ้นสมองให้หลั่งสารโดพามีนที่ Pleasure Center ทำให้เกิดความพอใจและอยากได้รับอาหารนั้นมากขึ้นเช่นเดียวกับการเสพโคเคนหรือเฮโรอีน พูดง่ายๆ ว่าอาหารมันๆ และหวานๆ เป็นความเพลินแบบเอกซ์ตร้าที่เราเสพติด และเมื่อเสพติดแล้วก็ไม่อยากเสาะหาอะไรอย่างอื่นแล้วเพราะเปลืองแรงและไม่สะใจเท่า 

 

 

เราไม่ได้ทำอะไรผิด เพราะแค่ทำตามสัญชาตญาณดั้งเดิมที่ถ่ายทอดจากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน แต่เราไม่รู้ว่าสิ่งแวดล้อมด้านอาหารได้เปลี่ยนไปแล้วในชั่วอายุคนก่อนๆ เมื่อสัญชาตญาณนี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้นมาในยีน

 

อาหารที่สกัดมาแต่แคลอรีเข้มข้นยังไม่มี แต่ตอนนี้กลายเป็นอาหารรอบๆ ตัวเราไปเสียแล้ว และเราก็ยังทำตามสัญชาตญาณเดิมที่ยึดเอาความเพลินแบบไม่ต้องออกแรงมากเป็นที่หมาย แม้ว่าความเพลินนี้จะทำให้ตัวตาย เราก็ยอม เหมือนอย่างที่คนไข้เบาหวานของผมคนหนึ่ง ท่านเล่ามอตโต้หรือคติพจน์ของท่านก่อนที่จะมาเข้าแคมป์สุขภาพของผมคือ

 

เมื่อการกินของมันๆ หวานๆ คือการเสพติด ครั้นจะหันมาทำตัวดีกินอาหารธรรมชาติ ได้แก่ ผัก ถั่ว ข้าวกล้อง ซึ่งเต็มไปด้วยกากใย สมองซึ่งติดอาหารไร้กากใยและมีแคลอรีสูงระดับเอกซ์ตร้าก็แสดงอาการลงแดง เป็นการลงแดงในระดับสัญชาตญาณซึ่งมีพลังมาก ไม่ใช่ในระดับสำนึกผิดชอบชั่วดี ซึ่งมีพลังน้อยกว่าผู้ที่เปลี่ยนมากินอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพจึงพบว่า แนวทางชีวิตใหม่เป็นแนวทางที่สูญเสียความเพลิดเพลินที่เคยมีในระดับที่ยากจะรับได้ ต้องยื้อยุดกับสัญชาตญาณที่คอยฟ้องตัวเองว่า ความเพลินในชีวิตกำลังจะหายไปแบบตลอดกาลเสียแล้ว 

 

แรงดึงดูดที่จะพาถอยกลับไปสู่อาหารแบบเดิมๆ ตลอดเวลาในระยะลงแดงนี้จะรุนแรงอยู่นานประมาณ 1 – 2 เดือน คนที่สู้แรงนี้ไม่ไหว ก็จะเปลี่ยนอาหารไม่สำเร็จต้องล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่า เหมือนคนที่ติดยาเสพติดแล้วเลิกไม่ได้สักที ท้ายที่สุดก็ต้องเสพมันต่อไปแม้จะทำให้ตัวเองตายก็ยอม แบบว่า…ตายก็ตาย

 

วงการแพทย์ไม่มีวิชาแก้ลงแดง ที่ได้ผลดังนั้นท่านที่ติดอาหารหวาน อาหารมัน จึงต้องเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมันเหมือนพวกขี้ยาที่ติดยาเสพติดทั้งหลาย เพราะไม่มีหมอคนไหนช่วยท่านได้

 

แต่ไม่นานมานี้ผมเคยดูคลิปวิดีโอในยูทูบ ผู้หญิงไทยในอังกฤษคนหนึ่งซึ่งติดยาเสพติดมาสิบปีแล้ว เล่าวิธีที่เธอเลิกยาเสพติดด้วยการหักดิบ ทิ้งเข็ม ทิ้งยาแล้วนั่งสมาธิตามดูลมหายใจ (อานาปานสติ) เธอเล่าว่า พอลงแดงน้ำลายเหนียวก็ตามดูลมหายใจเข้า – ออก แล้วใจก็แวบไปหายาเสพติดอีก เธอก็ดึงมาอีก ดึงกันไปดึงกันมาอยู่อย่างนี้ นอนไม่หลับทั้งคืน

 

แต่เธอก็ได้เคล็ดว่า เอ๊ะ! เวลาที่อยู่กับลมหายใจได้ ก็ไม่คิดถึงยาแฮะ จนโต้รุ่งเธอก็เลิกยาได้จริง ๆ นี่เป็นหลักฐานระดับเรื่องเล่า แต่ท่านที่กำลังลดน้ำหนักหรือเปลี่ยนอาหารเพื่อรักษาโรคของตัวเองจะลองนำไปใช้ดูก็ได้นะครับ

 

 

จาก คอลัมน์WELLNESS CLASS นิตยสารชีวจิต ฉบับ 435

ขอขอบคุณรูปภาพจาก unsplash
ขอขอบคุณรูปภาพจาก pixels
ขอขอบคุณข้อมูลจาก goodlifeupdate